จับตา 14 หุ้นวิ่งรับ ครม.ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน-ขยายลดค่าฟีอสังหา”

คลังชงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าครม.วันนี้ ลุ้นไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน” พร้อมขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอน-จำนองที่ดิน ส่วน “คนละครึ่งเฟส 6” ยังต้องลุ้น ด้านบล.เอเซีย พลัส เปิดโผ 14 หุ้นเด่นรับอานิสงส์ “ช้อปดีมีคืน”


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการของขวัญปีใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (20 ธ.ค. 2565) และภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จแล้ว คลังจะแถลงรายละเอียดของมาตรการของขวัญปีใหม่ในเรื่องต่าง ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการของขวัญปีใหม่ที่น่าสนใจ เช่น กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุมอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน โดยจะเสนอมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่กำหนดให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง วงเงินสูงสุด 40,000 บาท ซึ่งคาดว่ากรมสรรพากรสูญเสียรายได้ 8,200 ล้านบาท แต่จะส่งผลดี เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 56,000 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2%

ทั้งนี้ ในวงเงิน 40,000 บาทดังกล่าว แบ่งเป็น วงเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วไปไม่เกิน 30,000 บาท และการซื้อสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลา 46 วัน โดยครั้งนี้จะเพิ่มเติมจากครั้งก่อนที่นอกจากจะนำค่าใช้จ่ายซื้อของที่มีใบกำกับภาษีเป็นกระดาษมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท ยังนำใบกำกับภาษีที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนได้เพิ่มอีก 1 หมื่นบาท

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเสนอขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ออกไปอีก 1 ปี โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ลงเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% ลงเหลือ 0.01% ครอบคลุมที่อยู่อาศัยใหม่และมือสอง ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด

รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง รวมถึงมาตรการจากสถาบันการเงินรัฐที่จะเสนอ อาทิ การให้รางวัลพิเศษสำหรับสลากออมสิน รวมถึงมอบของขวัญปีใหม่สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่มีวินัยผ่อนชำระดี จะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี 500-1,000 บาท และการขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้ในประเทศเหลือลิตรละ 0.20 บาท จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2565 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และลดค่าครองชีพให้ประชาชนที่เดินทางไม่ให้เสียค่าโดยสารที่สูงจนเกินไป

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุว่า กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปมาตรการช้อปดีมีคืน หรือช้อปช่วยชาติแล้ว ล่าสุดหน่วยงานต่าง ๆ ได้ส่งเรื่องบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ทั้งนี้สามารถนําค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีได้ตามจํานวนที่ใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นวงเงินซื้อสินค้าและบริการไม่เกิน 30,000 บาท และเพิ่มเติมสำหรับการซื้อสินค้าที่มีใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อีก 10,000 บาท คาดเริ่ม 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลา 46 วัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางกรมสรรพากรอาจสูญเสียรายได้กว่า 8,200 ล้านบาท แต่จะทำให้เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ราว 0.35%

ขณะที่ สถาบันการเงินรัฐเสนอมาตรการชําระดีมีคืน เช่น การให้รางวัลพิเศษสำหรับสลากออมสิน รวมถึงมอบของขวัญปีใหม่สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่มีวินัย ผ่อนชําระดีจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี 500-1,000 บาท

โดยกระทรวงการคลังเสนอมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อาศัยออกไปอีก 1 ปี โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ลงเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจํานองจาก 1% ลงเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยอาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จะเสนอมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 จำนวน 1.5 ล้านสิทธิ โดยคาดจะใช้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท ส่วนอีก 3,300 ล้านบาท จะใช้ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงเสนอการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. จากเดิม 02.00 น. ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเศรษฐกิจ ในการประชุมครม.วันที่ 20 ธ.ค. 2565

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐถือเป็นอีกหนึ่ง Sentiment บวกต่อหุ้นในบางกลุ่มให้มีโอกาส Outperform ตลาดได้ ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยภายนอกรวมถึงมูลค่าซื้อขายที่เบาบาง แนะนําหุ้นช้อปดีมีคืน ได้แก่ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS, บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

Back to top button