GUNKUL แย้มชิงเค้ก 5.2 พันเมกฯ มั่นใจคว้า “โซลาร์-ลม” 1,200 MW

GUNKUL ส่งซิกชิงเค้ก 5.2 พันเมกะวัตต์ฉลุย! มั่นใจคว้า “โซลาร์-ลม” 1,200 MW เข้าวินตามเกณฑ์รู้ผล 15 มี.ค. 66 กางแผนปีนี้ลุยธุรกิจ EPC เต็มสูบ พ่วงสปินออฟ “กันกุล พาวเวอร์ฯ” เข้าตลาดฯ Q4/66 เจรจาซื้อ 2 โรงไฟฟ้าเวียดนามพร้อม COD ทันที


ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ภายหลังจากการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขายพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ช่วงระหว่างปี 65-73 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ผ่านเว็บไซต์แล้วนั้น

ล่าสุดบริษัทได้เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า โครงการขายไฟฟ้าที่บริษัทยื่นเข้าไปและผ่านเกณฑ์คุณสมบัติขายพลังงานหมุนเวียน แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 10 โครงการ และพลังงานลม(วินด์ฟาร์ม) จำนวน 4 โครงการ รวมบริษัทยืนและผ่านคุณสมบัติจำนวน 1,200 เมกะวัตต์ โดยจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 15 มี.ค.66

“อย่างไรก็ตามการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,203 เมกะวัต มีบริษัทเอกชนยื่นคุณสมบัติขายไฟเข้ามามากถึง 4 เท่า หรือประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ บริษัทเชื่อว่าด้วยกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า กกพ. โครงการโซลาร์ฟาร์ม และวินด์ฟาร์มจะสามารผ่านการคัดเลือกเป็นไปได้สูง เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่มีเอกสิทธิ์หรือโฉนดครอบครอง ซึ่งถูกต้องตามเกณฑ์ จึงมีโอกาสที่จะคว้าโรงไฟฟ้าได้ตามเป้ากว่ารายอื่นๆที่มีโครงการอยู่บนพื้นที่ให้เช่าแต่ไม่มีโฉนดครอบครองซึ่งอาจไม่เข้าหลักเกณฑ์” 

ส่วนแนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ในปี 66 ซึ่งถือเป็นงานถนัดโดยเฉพาะการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า,สายส่งไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสได้รับงานต่อเนื่อง และจากกระแสลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ทำให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งหันมาให้ความสำคัญและถือเป็นโอกาสได้รับงานมากขึ้น

โดยล่าสุดได้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขนาด 63 เมกะวัต เพื่อขยายพลังงานทดแทน และเพื่อใช้ใช้ไฟฟ้าภายในโรงงาน และช่วยลดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ อีกทั้งสามารถต่อยอดไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตได้

นอกจากนี้ภายหลัง GUNKUL ลงนามความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Joint Venture Agreement) กับกลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด (Gulf Gunkul Corporation) ถือเป็นโอกาสให้บริษัทได้งาน EPC เพิ่มขึ้นหากพันธมิตรสามารถคว้าโครงการใหม่ได้

ทั้งนี้ในส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าเติบโตด้วยใบอนุญาต และภาคเอกชนที่ได้รับการกดดันให้ทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และบางองค์กรมีความจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจรับเหมา EPC เติบโตโดดเด่นในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมีบริษัทสนใจลงทุนธุรกิจ EPC มากขึ้น โดยเห็นได้จาก บมจ. ณุศาศิริ ได้เข้าลงทุนใน บมจ.เด็มโก้ (DEMCO)

ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนที่จะนำบริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) เตรียม Spin-Off เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงไตรมาส 4/66 นี้ ทั้งนี้ในส่วนของ GPD ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง(EPC)ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยมองว่างานรับเหมาก่อสร้างจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีนี้ เพราะจะมีการเข้าไปรับงานเอกชนมากขึ้น

ล่าสุดได้มีการรับงานของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (TPIPP)ในการก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์ม 63 เมกะวัตต์ เพื่อขยายพลังงานทดแทน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันบริษัทเอกชนจะมุ่งเน้นการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon) ส่งผลให้หลายบริษัทมีโอกาสดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถใช้ไฟฟ้าภายในโรงงานและยังสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตด้วย

ส่วนแผนการลงทุนไฟฟ้าในประเทศบริษัทเน้น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา เนื่องจากต้นทุนดำเนินงานไม่สูง ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเวียดนามปัจจุบันซื้อและขายไฟ COD ไปแล้วจำนวน 4 โรง และอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อเพิ่ม 1-2 โรง หากเจรจาสำเร็จโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถ COD ได้ทันที

อย่างไรก็ตามภายหลังได้เงินเพิ่มทุนจาก GULF เข้ามาบริษัทได้นำไปชำระหนี้หุ้นกู้จนทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio:D/E) เหลือเพียง 0.9 เท่า ตรงนี้ทำให้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ในวงเงินอีกราว 9 พันล้านบาท เพื่อเป็นทุนรองรับการขยายธุรกิจพลังงานในอนาคตได้อย่างราบรื่น

Back to top button