31 นาทีจบ! วงโคจรดาวเทียมขายออกแค่ 3 ชุด โกยเงินเข้ารัฐ 806 ล้าน-อีก 2 ชุดไร้เคาะราคา

กสทช.จัดประมูลดาวเทียมใช้เวลา 31 นาทีก็ได้ผู้ชนะ โดยมีเพียงวงโคจรดาวเทียมชุด 2-3-4 ขายออกโกยเงินเข้ารัฐ 806 ล้านบาท ส่วนวงโคจรดาวเทียมชุดที่ 1 และ ชุด 5 ไร้เอกชนประมูล


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้(15 ม.ค.66) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เวลา 10.00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมการคัดเลือก จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทลูกของไทยคม) ,บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

โดยมีนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.กล่าวเปิดงานการประมูล พร้อมด้วยคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. อีก 4 คน ได้แก่ นายศุภัช ศุภชลาศัย,พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร,พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ นางสาวพิรงรอง รามสูต ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะ ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้นกสทช.จะกำหนดลำดับด้วยการจับสลาก

โดยผลปรากฎว่า ได้มีการจัดลำดับการประมูลเป็น ชุดที่ 4 , 3 , 5 , 2 และ 1 เป็นชุดสุดท้าย เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด

สำหรับการประมูลเริ่มต้นเวลา 10.00 น. โดยเริ่มประมูลในชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ซึ่งเหมาะสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จีน ราคาเริ่มต้น 8.6 ล้านบาท ทำได้ทั้งดาวเทียม Broadcast และ Broadband เคาะราคา จบในเวลา 10.02 น. โดยมีผู้ประมูลเสนอราคาเพียงครั้งเดียวราคาขึ้น 5% ที่ราคา 9,076,000 บาท จากราคา 8,644,000 บาท

ถัดมา เป็นการประมูลวงโคจรดาวเทียมชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการ Broadband เป็นวงโคจรเดิมของไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เหมาะกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และอินโดจีน ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาท เริ่มประมูลเวลา 10.15 น. และจบลงเวลา 10.21 น. ด้วยการเคาะเพียง 1 ครั้งเช่นกันที่ราคา 417 ล้านบาท

ต่อมาฝ่ายไอทีของเจ้าหน้าที่ผู้จัดประมูลแจ้งว่าระบบมีปัญหาเออเร่อทำให้เด้งผู้ประมูลทุกรายออกจากระบบจึงขอเวลาแก้ไข 10 นาทีทำให้เริ่มประมูลชุดที่ 5 ในเวลา 10.40 น. โดยชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) โคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเดินเรือราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาท เหมาะสำหรับสำหรับให้บริการ Broadcast ซึ่งจบในเวลา 10.46 นาที ผลปรากฎว่าไม่มีเอกชนรายใดยื่นเคาะราคาเลยทำให้ชุดดังกล่าวขายไม่ออก โดยระบบขึ้นว่า unsold

จากนั้นในเวลา 11.00 น. เริ่มเคาะราคาชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในพม่า อินเดียประเทศไทย ปัจจุบันมีดาวเทียมให้บริการอยู่แล้ว 2 ดวงในตำแหน่งดังกล่าวคือ ไทยคม 6 และ ไทยคม 8 เป็นวงโคจรสำหรับให้บริการ Broadcast ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาท และจบในเวลา 11.05 นาที ในรอบแรก แต่ในชุดดังกล่าวมีการแข่งขันเคาะราคาอยู่ 2 ราย ทำให้เริ่มเคาะรอบที่ 2 ในเวลา 11.10 น. และจบในราคา 11.16 น.ที่ 380 ล้านบาท เนื่องจากมีเอกชน 1 รายขอยอมแพ้ไป

ส่วน ชุดที่ 1 ซึ่งเป็นชุดที่จับสลากการประมูลได้เป็นลำดับสุดท้าย ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ และตะวันออกกลาง เป็นวงโคจรสำหรับ Broadcast ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาท โดยเริ่มประมูลในเวลา 11.30 น. จบในเวลา ราคา 11.36 น. ผลปรากฎว่าไม่มีผู้เสนอราคา unsold

โดยการประมูลทั้ง 5 ชุด ใช้เวลารวมประมูลทั้งหมด 31 นาที สามารถประมูออก 3 ชุด คือ ชุดที่ 4 ชุดที่ 3 และชุดที่ 2 รวมเป็นเงิน 806,502,650 ล้านบาท ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. จะมีการประชุมในเวลา 13.00 น. ของวันนี้ ( 15 ม.ค.) หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าวผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งนี้คาดว่า กสทช.จะมีการรับรองผลการประมูลในการประชุมบอร์ดวันพุธที่ 18 ม.ค. และต้องเริ่มจ่ายเเงินงวดเแรกใน 30 วัน ใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี

Back to top button