THAI รีซูมเทรดปลายปี 67 หลังใส่ทุนใหม่ 8 หมื่นลบ. ดันส่วนผู้ถือหุ้นพลิกบวก

THAI เตรียมแผนปรับโครงสร้างทุนใหม่ 8 หมื่นลบ. หนุนส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก คาดกลับเข้าเทรด SET ปลายปี 67 หรือต้นปี 68 คาดปี 66 ผู้โดยสารแตะ 3-3.5 หมื่นคน/วัน รับดีมานด์เดินทางเพิ่มขึ้น


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า จากที่ศาลล้มละลายเห็นชอบให้ THAI แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ 20 ต.ค.65 บริษัทเตรียมแผนปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูเป็นทุนใหม่ 80,172 ล้านบาท หรือจำนวนทุนจดทะเบียน 31,500 ล้านหุ้น เพิ่มจากปัจจุบันมีส่วนทุน 2,183 ล้านหุ้น ที่มาจากทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน การขายหุ้นเพิ่มทุน จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้ และคาดว่าจะนำหุ้น THAI กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปลายปี 67 หรือต้นปี 68

ทั้งนี้บริษัทคาดว่าแผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลังปี 66 หรืออย่างช้าครึ่งปีแรกของปี 67 โดยระหว่างนี้ที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างวางแผนปฏิบัติและกำหนดระยะเวลาดำเนินการ

สาระสำคัญของแผนฟื้นฟู

– กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 44 .693% (ณ 30 ก.ย.65) แปลงหนี้เป็นทุน จำนวนหุ้น 5,040 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาท รวมเป็นวงเงิน 12,827 ล้านบาท

– เจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ แปลงหนี้เป็นทุน จำนวน 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 ล้านบาท

– จัดสรรหุ้น 4,911 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาท หรือวงเงิน 12,500 ล้านบาท รองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้ให้สินเชื่อใหม่

– ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (PO) จำนวน 9,822 ล้านหุ้น ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 ล้านบาท หากยังมีเหลือจะเสนอขายให้กับกรรมการ พนักงานบริษัท (ESOP) ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท และหากยังเหลืออีกก็จะจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) ตามราคา PO และไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท

– หุ้นอีกจำนวน 1,904 ล้านหุ้น ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาท วงเงิน 4,845 ล้านบาท จะรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก ให้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้

– ปรับลดเงินกู้ก้อนใหม่ลงเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท จากแผนเดิม 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินการ

เมื่อสามารถระดมส่วนของทุนเข้ามาได้ตามแผนฟื้นฟู ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ดีขึ้นเป็นลำดับจะมีกำไรเข้ามา ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้ในปลายปี 67 จากปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 6-7 หมื่นล้านบาท” นายชาญศิลป์ กล่าว

สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งกระทรวงการคลัง หน่วยงานรัฐ ทั้ง ธนาคารออมสิน และ กองทุนวายุภักดิ์ ก็ยังสามารถดำเนินการได้ แต่โดยรวมส่วนของหน่วยงานภาครัฐ จะถือหุ้น THAI ได้ไม่เกิน 51% เพราะบริษัทไม่ต้องการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป

ส่วนในปี 66 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 3-3.5 หมื่นคน/วัน และมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 75-80% จากเมื่อเดือน ธ.ค.65 มีผู้โดยสาร 1.3 หมื่นคน/วัน เนื่องจากปีนี้ความต้องการเดินทางมากขึ้น หลังจากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด ซึ่งน่าจะเห็นมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 66

ทั้งนี้การบินไทยได้เตรียมเพิ่มเครื่องบินอีก 4 ลำ ซึ่งมาจากเครื่องบินเก่าที่รอขายนำกลับมาใช้งานก่อนในช่วงครึ่งแรกปี 66 และเตรียมเช่าเครื่องบินเพิ่มเติมอีก รวมแล้วจะเพิ่มเครื่องบินอีก 10-15 ลำเข้ามาเสริมฝูงบินจากปัจจุบันที่มีอยู่ 64 ลำ ตามแผนฟื้นฟูจะมีจำนวนฝูงบินที่ 80-90 ลำ ซึ่งจะเช่า และเป็นเครื่องบินใกล้เคียงกับแบบเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดูแลและซ่อมบำรุง

โดยมองว่าปีนี้สถานะการบินของบริษัทกลับมาได้ 60-70% ของช่วงก่อนเกิดโควิดที่มีผู้โดยสาร 12 ล้านคน/ปี หรือคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารราว 4-5 หมื่นคน/วัน และจะกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิดในช่วงปลายปี 67

ทิศทางปี 66 ความต้องการเดินทางมีอีกมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ ไปศึกษา ดูกีฬา เรามีโอกาสสูงขึ้น ไทยเป้นประเทศที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เป็น Center อินโดไช่า ความหลากกลายทางศาสนา ทางเชื้อชาติ ธรรมชาติมีความสวยงาม ประเทศอื่นก็อยากมา ปัจจัยในประเทศต้องไม่มีเหตุการณ์รุนแรง”

ทั้งนี้ การบินไทยจะค่อยๆเพิ่มความถี่การบิน ซึ่งปัจจุบันทำการบินกว่า 700 เที่ยว/สัปดาห์ และก็กำลังพิจารณาจะเพิ่มจุดบินในเส้นทางที่มีส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3 อาทิ ออสเตรเลีย , ยุโรป ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาจำนวนเครื่องบินด้วย

แต่สิ่งที่ยังกังวลอยู่คือราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ต้นทุนน้ำมันขยับขึ้นไป 40% จากเดิมมีสัดส่วนกว่า 30% ซึ่งราคาน้ำมัน 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ดี จากดีมานด์สูงขึ้น และสายการบินก็ยังมีเที่ยวบินกลับมาได้ไม่เท่าเดิม เครื่องบินขาดแคลน ทำให้ราคาตั๋วอยู่ในระดับที่ดี ครอบคลุมต้นทุนได้

การบินไทยเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 3/65 ที่มี 3,920 ล้านบาท จากไตรมาส 2/65 ที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,299 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 32,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.7%จากไตรมาส 2/65 ที่ 21,526 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้งปี 65 อาจจะยังไม่ดี เพราะเพิ่งเปิดประเทศ และยังมีปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาด้วย

Back to top button