WINMED กางแผนปี 66 รายได้แตะพันล้าน รุกธุรกิจชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก-แลบครบวงจร

WINMED กางแผนปี 66 รายได้แตะ 1 พันล้าน ชูธงชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกส่งตรงถึงบ้าน-ลุยผุด "WINMED LAB" เพิ่มอีก 1 สาขา รุกขยาย “Mobile blood” เพิ่มอีก 6 คัน เจาะตลาดต่างจังหวัด ตั้งงบลงทุนปีนี้ 70 ล้าน มั่นใจดันผลงานโตเข้าเป้า


นายนันทิยะ ดารกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ WINMED ผู้นำเข้าและจำหน่ายเครื่อง อุปกรณ์ สำหรับการเก็บ การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และการบำบัดรักษาทางการแพทย์ เปิดเผย ผลงานไตรมาส 4/65 คาดเติบโตต่อเนื่องตามแผน จากไตรมาส 3/65 มีรายได้รวม 177.85 ล้านบาท คาดหนุนรายได้ทั้งปี 2565 ตามเป้าหมาย 720 ล้านบาท

นอกจากนี้ในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีรายได้เติบโตอยู่ที่ระดับ 1,000 ล้านบาท โดยปัจจัยหนุนมากจากธุรกิจดั้งเดิม อย่าง กลุ่มผลิตภัณฑ์ธนาคารโลหิต, กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรีกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงจัดหาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ได้

ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2566 บริษัทวางแผนรุกจำหน่ายชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเอง (HPV & STIs Self-Collect) สำหรับผู้หญิงและผู้ชายภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “AVA” ราคา 1,800 บาท (รวมค่าแล็บ และผลตรวจ) สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเอง( STIs )ได้ไม่น้อยกว่า 12 ชนิด ด้วยขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเซลล์ที่ง่าย สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน มีความสะดวกรวดเร็ว ราคาประหยัด และส่งตัวอย่างเซลล์มาตรวจที่ห้องปฏิบัติการของ WINMED เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยระบบ mRNA ที่มีความแม่นยำ 98% และทราบผลตรวจที่เป็นความลับเฉพาะผู้ตรวจเท่านั้น ภายใน 5-7 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการหรือไม่ประสงค์จะไปตรวจที่โรงพยาบาล

โดยปัจจุบันมุ่งเน้นขยายช่องทางจำหน่ายออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศ ได้แก่ Shopee , Lazada , Line OA , Facebook A New Day นอกจากนี้ในช่องทางออนไลน์ล่าสุดได้เปิดเพจ “เพศสุภาพ” ในเฟซบุ๊กเพื่อเป็นอีกช่องทางในการขายสินค้าวาง จำหน่ายแล้วที่ช่องทางออนไลน์ต่างๆ

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนเปิดให้บริการ “WINMED LAB” เพิ่มอีก 1 สาขา จากปัจจุบันมี 1 สาขาเปิดภายในบริษัท โดยขณะที่อยู่ระหว่างหาสถานที่ และคาดว่าสามารเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2/66 โดยแล็บดังกล่าวเป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐานการตรวจยืนยันระดับโมเลกุลหาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธ์โอมิครอน โดยระบบ RT-PCR และ TMA (Transcription Mediated Amplification) ซึ่งเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการแบบสองระบบและครบวงจร

อีกทั้งในปีนี้บริษัทเตรียมขยายบริการหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร (Mobile blood collection) ขยายเพิ่มอีก  6 หน่วย จากปี 2565 มีบริการรวม 2 หน่วย คือ ที่โรงพยาบาลราชวิถี,โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคโลหิต และรองรับความต้องการ พร้อมตั้งงบลงทุนปีนี้ 70 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรุกขยายห้องแล็บเพื่อผลักดันรายได้เติบโตตามเป้า

Back to top button