“ครม.” ไฟเขียวเปลี่ยน “รถร่วมบริการ” เป็น “รถเมล์ EV” หวังลดก๊าซเรือนกระจก

“ครม.” ไฟเขียวโครงการเปลี่ยนรถร่วมบริการในพื้นที่กทม. ให้เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า หวังลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ รวมถึงลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ยกระดับชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า โดย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

โครงการดังกล่าวเป็นการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก โดยคาดว่าจะส่งผลให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/คัน/ปี หรือ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี 64-73 (10 ปี) ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน ซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมคุณภาพ ชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ภาคส่วนในประเทศไทยสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปี 64-73 ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิสช่วยต่อยอดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เป็นไปตามแผนนโยบายพลังงาน และยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

Back to top button