ข่าวดี! ค่าฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มลดลง 6-11 ก.พ.นี้

รองอธิบดีกรมอนามัย เผยค่าฝุ่นPM2.5 เริ่มมีแนวโน้มลดลงระหว่าง 6-11 ก.พ. นี้ กลับไปอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง-ดี แต่ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง สำหรับสาเหตุหลักก็คือยังพบว่ามาจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม


นายแพทย์สราวุธ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยระบุว่า แม้จะผ่านช่วงพีคสุดของสถานการณ์ PM2.5 ไปแล้ว ตั้งแต่วันนี้ (6 ก.พ.66) ถึงวันที่ 11 ก.พ. 66 ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลงอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง-ดี แต่มีบางช่วงบางพื้นที่ที่ยังเป็นอันตรายสุขภาพ เนื่องจากปัจจัยเกิดฝุ่น เกิดได้จากหลายส่วน อย่างในกรุงเทพฯ ปัจจัยคือ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทั้งจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและปัจจัยภายนอก เช่น จากการเผาต่างๆ จึงยังขอให้ประชาชนดูแลตัวเองและร่วมกันลด-กำจัดแหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อบรรเทาปัญหาระยะยาวต่อไป

ขณะเดียวกันจากข้อมูลเฝ้าระวังโรค พบฝุ่น PM2.5 นอกจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตรงคือ ผู้ป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะทำให้มีอาการโรคเพิ่มขึ้น ต้องใช้ยาเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพเป็นพิเศษคือ ผู้ที่มีปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด

โดยข้อมูลการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ พบว่า PM2.5 เข้าไปทำให้ความดันในหลอดเลือดเพิ่ม เกิดหัวใจขาดเลือดทั้งแบบฉับพลันและระยะยาว สร้างความเสียหายต่อระบบพฤติกรรม สมอง โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-6 ปี กระทบพัฒนาสมอง ส่งผลให้ IQ – EQ ลด หลายประเทศพบ PM2.5 ทำให้เกิดออทิสติกมากขึ้น อีกกลุ่มที่ต้องระวังคือ หญิงตั้งครรภ์ เพราะข้อมูลชัดว่า PM2.5 ทำให้เกิดภาวะการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย หรือพิการแต่กำเนิดได้ แนะควรเช็คระดับค่าฝุ่น PM2.5 ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำ

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 6 ก.พ. 66 เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 12-36 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 22.3 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด

ทั้งนี้ ณ เวลา 07:00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 12-36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)

Back to top button