TTA งบปี 65 กำไร 3.2 พันล้านบาท

TTA รายงานกำไรปี 65 อยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อนกำไร 3.8 พันล้านบาท เนื่องจากรายการขาดทุนพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำและไม่ใช่เงินสด


บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานผลประกอบการงวดปี 2565 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อนกำไร 3.8 พันล้านบาท เนื่องจากรายการขาดทุนพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำและไม่ใช่เงินสด

ด้านนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA เปิดเผยว่า แนวโน้มปี 2566 ได้คาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าแห้งเทกองที่ร้อยละ 1.3 ในหน่วยตัน หรือร้อยละ 2.0 ในหน่วยตันไมล์ ในขณะเดียวกันแนวโน้มภาพรวมของอุปทานในปี 2566 ยังสนับสนุนตลาดเรือขนส่ง โดยมียอดสั่งซื้อที่ต่ำที่ร้อยละ 7 ของปริมาณกองเรือทั่วโลกทั้งหมด และคาดการณ์การขยายตัวของกองเรือจะอยู่ที่ร้อยละ 1.8

นอกจากนี้ กฎระเบียบด้านการปล่อยมลพิษใหม่ EEXI และ CII อาจช่วยทำให้อุปทานเรือขนส่งบางส่วนให้ลดลงจากความเร็วในการเดินเรือที่ลดลง และเวลาสำหรับเรือขนส่งที่ต้องปรับปรุงเรือให้เป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดในภาพรวมยังคงเป็นบวกด้วยปัจจัยพื้นฐานที่สมดุล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่

สำหรับผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ:

สำหรับปี 2565 โทรีเซน ชิปปิ้ง มีรายได้จากค่าระวางอยู่ที่ 14,016.7 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากค่าระวางเรือเทียบเท่าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จำนวนวันทำงานของเรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของเพิ่มขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

โดย โทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ที่ 5,193.1 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ ด้วยอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าที่โดดเด่นเฉลี่ย 24,763 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ในปี 2565 นอกจากนี้ อัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจฯ ยังคงสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิที่ 21,045 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 18 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเรือ (OPEX) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3,936 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 4,588 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 14

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี โทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของเรือ จำนวน 24 ลำ (เรือซุปราแมกซ์ จำนวน 22 ลำ และเรืออัลตราแมกซ์ จำนวน 2 ลำ) มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,913 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 14.7 ปี

กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง :

บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) หรือเมอร์เมดฯ รายงานรายได้จำนวน 7,905.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการบริการทุกส่วน คิดเป็นร้อยละ 119 เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้จากงานรื้อถอน (decommissioning) งานขนส่งและติดตั้ง (Transportation & Installation: T&I) และงานวางสายเคเบิลใต้ทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการขยายการบริการ และคิดเป็นร้อยละ 49 ของรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฯ นอกจากนี้ รายได้จากงานวิศวกรรมที่ใต้ทะเล (subsea-IRM()) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของงานที่ไม่ใช้เรือในโครงการวิศวกรรมใต้ทะเลด้านสำรวจและซ่อมบำรุง อัตราค่าจ้างรายวันเพิ่มขึ้น และอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79 ในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับ    ร้อยละ 66 ในปี 2564

สำหรับ เมอร์เมดฯ ประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาเป็นกำไรสุทธิ จำนวน 34.2 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 107 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 8.6 ล้านบาท ในปี 2565 มีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบสูงต่อเนื่องที่ 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน

กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร :

ในปี 2565 บริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA รายงานรายได้ 4,246.3  ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากทุกผลิตภัณฑ์และบริการ โดยรายได้จากการขายปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากราคาขายปุ๋ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายปุ๋ยรวมลดลงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 224.2 พันตัน ในปี 2564 เป็น 143.3 พันตัน ในปี 2565 เนื่องจากปริมาณขายปุ๋ยที่ลดลงในประเทศของเวียดนาม

ทั้งนี้ ปริมาณขายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 66 ของปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมด อยู่ที่ 94.4 พันตัน ขณะที่ปริมาณส่งออกปุ๋ยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 48.9 พันตัน เนื่องจากปริมาณส่งออกปุ๋ยไปยังประเทศฟิลิปปินส์ขยายตัว การส่งออกไปยังลูกค้าหลักในประเทศแถบแอฟริกายังคงถูกจำกัดจากอัตราค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ที่สูง

ส่วนรายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 75.0 ล้านบาท จากการประสบความสำเร็จในการเข้าซื้ออาคารคลังสินค้าขนาด 10,000 ตารางเมตร และสิทธิการใช้พื้นที่โรงงานเพื่อเก็บสินค้าในประเทศเวียดนาม ประกอบกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) :

พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 193 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่ ในขณะที่ ทาโก้ เบลล์ เป็นแฟรนไชส์อาหารเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 12 สาขาทั่วประเทศ

กลุ่มการลงทุนอื่น (Investment) มุ่งเน้นธุรกิจการบริหารทรัพยากรน้ำและโลจิสติกส์ :

บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AIM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA   ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 89.40 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ ร้อยละ 100

Back to top button