“ดาวโจนส์” ร่วง 400 จุด เซ่นแรงขายหุ้น “เครดิต สวิส” ดิ่งกว่า 20% ออลไทม์โลว์

"ดัชนีดาวโจนส์" ร่วงกว่า 400 จุด ท่ามกลางความกังวลหุ้นเครดิต สวิส ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุด 24% เป็นประวัติการณ์ ก่อนถูกสั่งระงับการซื้อขาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 400 จุด ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารถูกกดดันจากการทรุดตัวของหุ้นเครดิต สวิส

ณ เวลา 20:43 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 31,709.58 จุด ลบ 445.82 จุด หรือ 1.39% ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงในการซื้อขายวันนี้

ทั้งนี้ หุ้นของเครดิต สวิส ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดิ่งลง 24% สู่ระดับ 1.90 ดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของทางธนาคาร โดยเครดิต สวิส ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นยุโรป ก่อนถูกสั่งระงับการซื้อขาย

ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายหุ้นเครดิต สวิส หลังธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของเครดิต สวิส ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อเครดิต สวิส เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นในเครดิต สวิสมากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร

ก่อนหน้านี้ เครดิต สวิสเปิดเผยว่า ธนาคารขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีอยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส

นอกจากนี้ ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4/2565 ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวของธนาคารในการทำผิดกฎระเบียบ และความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดี

สำหรับดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดวานนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากเดือนม.ค. โดยบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ นักลงทุนขานรับมาตรการของทางการสหรัฐในการคุ้มครองเงินฝาก และจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” เพื่อสกัดวิกฤตการณ์ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ไม่ให้ลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ

อย่างไรก็ดี มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ประกาศปรับลดมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของระบบธนาคารสหรัฐ จาก “มีเสถียรภาพ” สู่ “เชิงลบ” โดยเตือนว่า แม้ทางการสหรัฐออกมาตรการสกัดวิกฤต SVB แต่ธนาคารแห่งอื่นๆ ที่มีตัวเลขขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (unrealized losses) หรือผู้ฝากเงินที่ไม่ได้รับการค้ำประกันเงินฝาก จะยังคงเผชิญความเสี่ยงต่อไป

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้

ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค.

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับเดือนม.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. โดยชะลอตัวจากระดับ 0.5% ในเดือนม.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 0.4% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.3% หลังจากพุ่งขึ้น 3.2% ในเดือนม.ค. ยอดค้าปลีกเดือนก.พ.ได้รับผลกระทบจากการลดลงของยอดขายรถยนต์

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนม.ค.

Back to top button