บอร์ด TGE เคาะเพิ่มทุน “พีพี” 130 ล้านหุ้น 5 ราย “พีรเจต” คนเดียวใส่เงิน 140 ล้าน

บอร์ด TGE เคาะเพิ่มทุน “พีพี” 130 ล้านหุ้น 5 ราย “พีรเจต” คนเดียวใส่เงิน 140 ล้าน กวาดหุ้นหนักสุด 70 ล้านหุ้น เตรียมนำเงินขยายธุรกิจโรงไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ ตามแผน


บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติเกี่ยวกับการเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) มีจำนวน 65 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 1,100 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียน 1,165 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 130 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

นอกจากนี้ได้อนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 130 ล้านหุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้ แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยกำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 2 บาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 260 ล้านบาท และจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด 5 ราย ตามรายละเอียดดังนี้

1.จัดสรรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 70 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ นายพีรเจต สุวรรณนภาศรี

2.จัดสรรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 30 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ นายกิตติโชติ หริตวร

3.จัดสรรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 10 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ นายทรรศิน จงอัศญากุล

4.จัดสรรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทจำนวน 10,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่นายขันธ์พลร์ ซื่อภาคย์

  1. จัดสรรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท จำนวน 10,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่นายคุณค่า คุณานันทกุล

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายสุเมธ ลักษิตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทที่มุ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2570 เพื่อก้าวเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศไทย และเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2575 เพื่อยกระดับเป็นผู้นำอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค

โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 69.60 เมกะวัตต์  ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.70 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 5 แห่ง ที่ชนะประมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังการผลิตติดตั้งรวม 39.90 เมกะวัตต์ ได้แก่ ราชบุรี สระแก้ว ชุมพร จะเริ่ม COD ปลายปี 2567 ส่วนสมุทรสาครและชัยนาท คาดว่าจะ COD ปลายปี 2568

ทั้งนี้ มีแผนการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 2 โครงการในปีนี้ ทำการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ขยายช่องทางสร้างรายได้ใหม่ เช่น ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล, วู้ดพาเลต เป็นต้น ศึกษาการนำขี้เถ้าในกระบวนการผลิตมาต่อยอดสร้างรายได้ และเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต

โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวล TPG จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER แล้ว มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) 33,964 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ในปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2564-31 ก.ค. 2565 และในปีที่ 2 จะได้รับรองเพิ่มขึ้นอีกกว่า 33,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวล TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน T-VER อีก 1 แห่ง และ TGE ก็อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน I-REC ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากดำเนินการตามแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า ขยายช่องทางสร้างรายได้ใหม่ และการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตแล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจะผลักดันรายได้ของบริษัทในปี 2567 เพิ่มขึ้นได้อีกมากกว่า 50% จากปี 2565 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 938 ล้านบาท

Back to top button