ดักเก็บ 3 หุ้น “ชิ้นส่วนยานยนต์” สอท. ตั้งเป้ายอดผลิตรถปี 66 แตะ 1.95 ล้านคัน

POLY-MTW-STANLY คาดได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มจาก OEM เดิม รวมถึงรายใหม่กลุ่มอีวีจากผู้ผลิตจีนหลายรายย้ายฐานการผลิตเข้าไทย ขณะที่ สอท. ตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 66 โต 3.53% เป็น 1.95 ล้านคัน


นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2566 ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 98,381 คัน เพิ่มขึ้น 4.84% จากเดือนเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 84,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.89% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 (มกราคม-มีนาคม) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 273,692 คัน เพิ่มขึ้น 12.57% จากไตรมาส 1 ปี 2565

ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 179,848 คัน เพิ่มขึ้น 4.16% ส่วนไตรมาส 1 ปี 2566 มียอดการผลิตรถยนต์สำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 507,787 คัน เพิ่มขึ้น 5.77% จากไตรมาส 1/2565 ส่วนยอดการจำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูป เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 79,943 คัน ลดลง 8.37% ส่วนไตรมาส 1/2566 มียอดการจำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูปรวมทั้งสิ้น 217,073 คัน ลดลง 6.11% จากไตรมาส 1 ปี 2565

ทั้งนี้เชื่อว่าในปี 2566 ยอดการผลิตรถยนต์จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.95 ล้านคัน เนื่องจากเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้สามารถผลิตได้แล้วถึงกว่า 5 แสนคัน รวมทั้งยังเชื่อว่าการส่งออกรถยนต์ปีนี้จะทำได้ตามเป้าที่ 1.05 ล้านคัน อย่างไรก็ดีต้องติดตามสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพราะเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามา รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้นำเข้า รวมทั้งต้องจับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้นด้วย

บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง ระบุว่า  ตามที่ สอท. รายงานยอดผลิตและยอดขายรถยนต์เดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากยอดจองรถจากงานมอเตอร์โชว์ 2023 ที่สูงถึง 45,983 คัน เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน แบ่งเป็น ยอดจองรถยนต์ 42,885 คัน เพิ่มขึ้น 34.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน เป็นส่วนของรถยนต์ EV จำนวน 9,234 คัน และรถจักรยานยนต์จำนวน 3,098 คัน เพิ่มขึ้น 56.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน

นอกจากนี้การส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้น หลังจีนเปิดประเทศทำให้การค้าและท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงไทย ฟื้นตัว และปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์เริ่มคลี่คลาย ช่วยหนุนผลกำไรกลุ่มชิ้นส่วนยายยนต์ฟื้นตัว

สำหรับแนวโน้มปี 2566 สอท. คาดการณ์การผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.53% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.05 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 9 แสนคัน โดยการผลิตรถยนต์ปี 2565 มียอดการผลิตรวมอยู่ที่ 1.88 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 11%

โดยกลยุทธ์ลงทุนทางฝ่ายวิจัย แนะนำ  POLY, MTW และ STANLY จากคาดว่าเป็นบริษัทที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มจาก OEM เดิม และรายใหม่ กลุ่ม EV ซึ่งผู้ผลิตจีนหลายรายมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

บริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ POLY ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาง พลาสติก ซิลิโคน แม่พิมพ์ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 โตไม่ต่ำกว่า 15% จากการเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากธุรกิจยานยนต์ กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้แนวโน้มค่ายรถยนต์เริ่มมีการเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ใหม่อย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัท เพราะจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจได้รับคำสั่งซื้อเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนทิศทางการเปลี่ยนผ่านรถยนต์ไปสู่การใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) มากขึ้นนั้น ในส่วนของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะชิ้นส่วนยานยนต์ที่บริษัทผลิตนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์

บริษัท เมคทูวิน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTW ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีมุมมองเป็นบวกต่อกำไรไตรมาส 1 ปี 2566 โดยคาดว่ากำไรมีโอกาสสูงที่จะทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากการส่งมอบบางส่วนที่เลื่อนมาจากไตรมาส 1 ปี/2565 และการผลิตและส่งมอบใหม่ในไตรมาส 1 ปี 2566 อีกราว 2,500 คัน ขณะที่ SG&A ปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากโรงงานผลิตสินค้าไม่ทัน ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดและการส่งเสริมการขาย รวมถึงการขยายดีลเลอร์ต้องหยุดไปชั่วคราว จะทำให้ NPM สูงขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 12%

ส่วนทั้งปี 2566 MTW ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 ที่ 1.5 หมื่นคัน พุ่งเท่าตัวจากปี 2565 ที่ 4-5 พันคัน เนื่องจากภาครัฐให้ความช่วยเหลือ 1.8 หมื่นบาท/คัน คาดกำไร 86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 342% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และรายได้ 578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน พร้อมประเมินราคาเป้าหมาย 9 บาท

บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ส่องสว่างยานยนต์มีการคาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 4/2566 (ม.ค.-มี.ค. 66) อยู่ที่ 497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 32% จากไตรมาสก่อน และรายได้เติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และ 12% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของการผลิตของ Honda ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ เริ่มคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนชิปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีโมเดลใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขระที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 19% ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 18.8% ในปี 2565 และ 17% ในไตรมาส 3 ปี 2566 ส่วนทั้งปี 2566 (เม.ย. 65-มี.ค. 66) คาดว่ามีรายได้ 14,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และกำไรสุทธิ 1,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน และปี 2567 คาดรายได้ 15,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 1,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 221 บาท

Back to top button