ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง GFC ขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai ปีนี้

ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง “เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์” ขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้า mai ภายในปีนี้ ชูผู้นำให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ


นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC ว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ GFC ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

โดยคาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 2566 ในหมวดธุรกิจบริการ GFC ถือเป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบัน GFC มีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 160 ล้านหุ้น และภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีหุ้นสามัญเพิ่มเป็น 220 ล้านหุ้น และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

สำหรับ GFC เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมโดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ปัจจุบันบริษัทฯ มีบริษัทย่อย จำนวน 2 บริษัท (“กลุ่มบริษัท”) 1). บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS ) และ 2). บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (“GFCFG”) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1). การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 3). การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) 4). การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing: NGS) และ 5) การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร , กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ  ที่สนใจอยากมีบุตร

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GFC เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถโอกาสการเติบโตในอนาคต สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ดีที่สุด ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

โดยจะเห็นได้จากการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยในปี 2563 โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อนและวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่นๆ  ตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรม นักเทคนิคการแพทย์ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีแผนนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆในอนาคต และนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ

โดยจากความทุ่มเทในการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจใน 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 ถึงปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก

ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 ถึงปี 2565 เท่ากับ 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท และ 65.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 31.04 ร้อยละ 28.76 และ ร้อยละ 23.81 ของรายได้จากการให้บริการ สาเหตุ  ที่กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิในปี 2565 ลดลงเมื่อเทียบจากปี 2564 เนื่องมาจากกลุ่มบริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภายหลังจากคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

Back to top button