BGRIM มองนโยบาย “ลดค่าไฟ” กระทบน้อย จ่อ COD เพิ่ม 500 MW ดันทั้งปีโต

BGRIM ส่งซิกผลงานไตรมาส 2/66 ยังโตต่อเนื่อง ปีนี้เตรียม COD โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 500 MW รวมถึงมีลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ และรับรู้รายได้จากโครงการ M&A เข้ามาสนับสนุนผลประกอบการ


นางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 19 พ.ค.66 ว่า บริษัทเชื่อว่ารายได้ของบริษัทจะสามารถมีการเติบโตได้ในปีนี้ จากแผนการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดรวมราว 500 เมกะวัตต์ รวมถึงมีลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามาในระบบราว 50-60 เมกะวัตต์ และรับรู้รายได้จากโครงการ M&A บางส่วน

โดยในไตรมาส 2/66 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/66 เป็นผลมาจากบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในประเทศมาเลเซีย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ BGMCSB (ถือหุ้น 100%) โครงการ ISSB (ถือหุ้น 45%) ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 45 MW รวม 90MW

อีกทั้งในปี 66 บริษัทคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการติดตั้งโซลาร์ เซลล์ที่อู่ตะเภา เฟส 1 ติดตั้ง 68 MW, BGPAT 2-3 ติดตั้ง 196 MW ได้ภายในไตรมาส 4/66

ขณะเดียวกันช่วงปลายปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีลูกค้านิคมอุตสาหกรรมเข้ามาเพิ่มอีก หนุนให้บริษัทมีกำลังการผลิตเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ คือมากกว่า 150GWh ในปี 73 ซึ่งแบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 50% และโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ 25% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

โดยปัจจุบันราคาก๊าซ SPP เฉลี่ยอยู่ที่ 400-450 บาท/MMbtu และราคาก๊าซมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก จะส่งผลให้มาร์จิ้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้น และนโยบายการปรับลดค่าไฟของภาครัฐ คาดว่าจะไม่กระทบต่อมาร์จิ้นของบริษัทมากนัก พร้อมวางงบลงทุนปีนี้กว่า 1-1.5 หมื่นล้านบาท รองรับการลงทุนโครงการต่างๆที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นในปีนี้

สำหรับประเด็นความกังวลนโยบายลดค่าไฟจากพรรคก้าวไกล จะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าหรือไม่นั้น บริษัทมองว่าจากรายละเอียดของนโยบายนโยบายภาครัฐที่มีแนวโน้มในการทบทวนปรับสูตรการคำนวนค่าแก๊สใหม่ จะมีผลกระทบต่ออัตรากำไร (มาร์จิ้น) ไม่มากนัก เนื่องจากภาครัฐจะมีการกลับไปทบทวนสูตรการคำนวนต้นทุนราคาแก๊สใหม่ จากปัจจุบันส่วนใหญ่โรงงานผลิตแก๊สจะไปส่งให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อน และส่วนที่เหลือค่อยนำมาผลิตไฟฟ้า ทำให้เมื่อปริมาณแก๊สในการผลิตไฟฟ้าไม่พอจะต้องมีการนำเข้าแก๊ส LNG ซึ่งอยู่ในราคาสูง

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าความต่างของต้นทุนราคาแก๊สสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ไม่ควรจะห่างกันมากนัก อาจมีการปรับเปลี่ยนสูตรคำนวนค่าแก๊สใหม่ และทำให้ค่าแก๊สลดลง นำไปสู่ค่าเอฟที (Ft) มีช่องว่างในการปรับลดลงด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะสะท้อนในค่าไฟฟ้าที่ลดลงด้วย

Back to top button