แบงก์สยายปีก! รับสินเชื่อรายใหญ่ฟื้น โบรกชู KTB-BBL ท็อปพิก

โบรกมองสินเชื่อเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 0.5% รับสินเชื่อรายใหญ่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” ชู KTB-BBL ท็อปพิก คาดแนวโน้มกำไรทั้งปี 66 โตแกร่ง โดยให้ราคาเป้าหมาย KTB อยู่ที่ 21 บาท ขณะที่ BBL ให้ราคาเป้าหมาย 195 บาท


บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยมองภาพรวมสินเชื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ทั้ง 8 ธนาคารครอบคลุมอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ทั้งในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน และเงินกู้ระยะยาว โดยธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจากสินเชื่อรายใหญ่เป็นหลัก รองลงมาเป็นสินเชื่อ SME และสินเชื่อในบริษัทลูกๆ ส่วนสินเชื่อรายย่อยทรงตัว (สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อไม่มีหลักประกันลดลง)

โดยรองลงมาเป็น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจากสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนธนาคารที่มีสินเชื่อลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รองลงมาเป็น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เพิ่มขึ้นได้ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนภาพรวมของเงินฝากในเดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ระดับ 12.7 ล้านล้านบาท ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ถัดมาเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากเงินฝากออมทรัพย์ลดลง

ทั้งนี้ มองเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร มีมุมมองเป็นบวกต่อสินเชื่อในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่

ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังคงทรงตัวได้ขณะที่คาดว่าภาพรวมของสินเชื่อในเดือน มิ.ย. 2566 จะเดินหน้าฟื้นตัวได้ต่อเพราะเริ่มเข้าสู่ช่วงการเบิกจ่ายของสินเชื่อรายใหญ่ ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อรวมทั้งปี 2566 ของกลุ่มคาดไว้ที่ 5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าภาพรวมสินเชื่อในช่วง 5 เดือน ปี 2566 ลดลงอยู่ที่ 0.3% ตั้งแต่เริ่มต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่คาดหวังการฟื้นตัวของสินเชื่อที่จะมีตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นของ NPL มากกว่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะทยอยเพิ่มขึ้นไม่น่ากังวลมากนัก เพราะแต่ละธนาคารมีการตั้งสำรองฯ จำนวนมากมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคาด NPL ในปี 2566 จะอยู่ที่ 3.06% จากเดิมในปี 2565 อยู่ที่ 2.89%

โดยทางฝ่ายวิจัยยังคงน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation ยังถูกเทรดที่ระดับเพียง 0.70 เท่าของ PBV โดยเลือก KTB, BBL เป็น Top pick โดยชอบ KTB ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 21.00 บาท ซึ่งปัจจุบันค่า PBV อยู่ที่ 0.72 เท่า เพราะแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2566 จะเพิ่มขึ้นได้ทั้งเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้าโดดเด่นที่สุดในกลุ่มจากสำรองฯ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำและ NIM ที่เพิ่มขึ้นได้ดีด้าน valuation ยังซื้อขายที่ระดับเพียง PBV ที่ 0.69 เท่า ส่วนราคาหุ้นยังไม่สะท้อนกำไรรายไตรมาสที่ทำได้มากกว่าช่วงก่อนโควิด โดยในปี 2562 ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดราว 21.00 บาท

ขณะที่คาดว่าจะมี upside เพิ่มจากการใช้ data ในแอพพลิเคชั่นเป๋าตังและอื่นๆ ที่ช่วยเหลือรัฐบาล ซึ่งสามารถนำข้อมูลมา cross-selling เพิ่มเติมได้อีกในอนาคต และชอบ BBL ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 195.00 บาท ซึ่งปัจจุบันมีค่า PBV ที่ 0.70 เท่า เพราะกำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุดในกลุ่มถึง 32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ด้าน BBL ยังมีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินที่รองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะมีอัตราส่วนความคุ้มครองอยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มที่ 265% นอกจากนี้ Valuation ยังน่าสนใจโดยเทรดที่ PBV เพียง 0.60 เท่า ขณะที่ SCB ยังคงแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 130.00 บาท จะได้ sentiment เชิงบวกจากสินเชื่อที่เติบโตได้ดีในเดือน พ.ค. 2565

Back to top button