“ณพ-วีระวงค์” อ่วม! ศาลสั่งจ่าย “นพพร” 3 หมื่นลบ. คดีโกงหุ้น WEH ”SCB-อาทิตย์” พ้นมลทิน

ศาลอังกฤษตัดสิน "ณพ ณรงค์เดช" พร้อมพวก 14 คน จ่ายค่าเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่ "นพพร ศุภพิพัฒน์" หลังชนะคดีโกงหุ้น WEH ด้าน ”SCB-อาทิตย์ นันทวิทยา” พ้นมลทิน


ผู้สื่อข่าวอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานวันนี้ (1 ส.ค. 2566) ว่า ศาลอังกฤษได้มีคำตัดสินคดีที่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ และบริษัทของตน 3 แห่ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท) จาก นายณพ ณรงค์เดช, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ผู้บริหาร SCB และผู้บริหาร และกรรมการของ WEH รวม 17 ราย ได้แก่

นายณพ ณรงค์เดช, นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์, นายธันว์ เหรียญสุวรรณ, นายอามาน ลาคานี, นางคาดีจา บิลาล ซิดดิกี, บริษัท คอลัมม์ อินเวสต์เมนท์ส จำกัด, บริษัทเคเลสตัน โฮลดิงส์ จำกัด, บริษัท เอแอลเคบีเอส, บริษัท โกลเด้น มิวสิค จำกัด, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), นาย อาทิตย์ นันทวิทยา, บริษัท คอร์นวอลลิส, นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ, ดร.เกษม ณรงค์เดช, คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา, นายประเดช กิตติอิสรานนท์ และ นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ โดยศาลกำหนดใช้เวลาสืบพยานทั้งสิ้น 17 สัปดาห์ เริ่มต้นตั้งแต่กลาง ต.ค.65 และสิ้นสุดเมื่อต้น มี.ค.66

สำหรับข้อกล่าวหาตามคำฟ้องของทนายความ นายนพพร มีการระบุด้วยว่า ทั้ง นายณพ ณรงค์เดช และธนาคารไทยพาณิชย์ได้จงใจประเมินราคาหุ้นให้ต่ำเกินไป และมีการบิดเบือนเอกสารสำคัญในช่วงระหว่างปี 57-61 ซึ่งตามเอกสารของศาลนั้นระบุว่า ฝั่งของนายนพ และผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ ได้มีการปฏิเสธข้อกล่าวหาไปแล้ว ขณะที่ทางทนายความ นายณพ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้นไม่ตอบข้อซักถามทางอีเมลแต่อย่างใด

โดยศาลอังกฤษพิพากษาให้ นายณพ ณรงค์เดช พร้อมพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของ WEH

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 และ นายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จำเลยที่ 11 รวมทั้งนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 ให้พ้นผิด

ขณะที่ผู้ถูกฟ้องสำคัญคนอื่น ๆ ในคดีที่ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ ได้แก่ นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายเกษม ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 คือ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายนพ และภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ

นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13 และ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการของ WEH เป็นจำเลยที่ 16

ทั้งนี้ นีล แคลเวอร์ (Neil Calver) ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษมีคำตัดสินว่า นายณพและพวก (ยกเว้น จำเลยที่ 5, 10, และ 11) ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบและต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายรวมกันทั้งเงินค้างชำระและดอกเบี้ยรวมกันเป็นมูลค่าราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่นายนพพรฟ้องเรียกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 432 ระบุว่า “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่า ในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาแคลเวอร์ ยังเห็นว่า นายณพ, นายณัฐวุฒิ, นายวีระวงค์ และบรรดาผู้บริหารของ WEH มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ระบุว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ซึ่งตรงกับประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นต่อสู้ ในประเด็นการเคลื่อนย้าย ปกปิด หรือโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นด้วยความจงใจที่จะสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้นั้น ศาลอังกฤษเห็นว่า เรื่องนี้เป็นแผนการยักยอกทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยจำเลยที่เกี่ยวข้องซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการขัดขวางไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ของนายนพพร ได้รับการชำระเงินในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทต่าง ๆ ของนายณพ จากข้อเท็จจริงที่ศาลพบ เป็นมุมที่ตื้นเขินเกินไปที่มองว่าการโอนหุ้นกรณีนายเกษมเป็นเรื่องแยกส่วนจากการโอนต่อ ๆ มา

Back to top button