DEPA เปิดตัวเลขดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ Q2 ดีขึ้น รับท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนฟื้น

"สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล" เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาส 2/66 ปรับตัวดีขึ้น จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น


สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เผยผลสำรวจข้อมูล ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 2 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น มีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงนโยบายเปิดประเทศของจีนที่ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลง

กระทั่งมาสะดุดถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการและคู่ค้าหลายรายชะลอแผนธุรกิจ ชี้ผู้ประกอบการคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ผลักดันให้เข้าถึงแหล่งทุน และออกมาตรการจูงใจบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลศักยภาพสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

โดยจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 2 ปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device), กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software), กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service), กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 54.1 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 54.0 ของไตรมาสแรกและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง โดยปัจจัยด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน และด้านต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุนเพื่อประกอบการปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา

ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ DEPA เปิดเผยว่า ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลประกอบด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น

อนึ่ง นโยบายการเปิดประเทศของจีนยังส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของกิจการในประเทศลดลง โดยเฉพาะราคาชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในทางกลับกัน ปัจจัยฉุดรั้งคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผู้ประกอบการมีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยผู้ประกอบการและคู่ค้าหลายรายชะลอแผนธุรกิจเพื่อรอดูท่าทีการประกาศนโยบายของรัฐบาลใหม่

ผู้อำนวยการใหญ่ DEPA ระบุว่า “ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ชัดเจน ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการเข้าถึงตลาดภาครัฐ และประเด็นสำคัญคือ การพัฒนากำลังคนดิจิทัลเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงการออกมาตรการจูงใจบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลศักยภาพสูง (Talent) จากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ หากแยกตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 54.6 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.9 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 52.1 และ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 52.4 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กลับมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ 46.8 ในไตรมาสนี้

Back to top button