HENG รุกหนักครึ่งปีหลัง ปล่อยสินเชื่อ “จำนำทะเบียนรถ” เร่งเปิดสาขาอีก 22 แห่ง

HENG เผยครึ่งหลังปี 66 มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เร่งเปิดเพิ่มเติมอีก 22 สาขา และภายในปีหน้าเพิ่มอีก 350 สาขา ส่งซิกโครงการร่วมทุนอาจจะมีข่าวดีในไตรมาส 4 ของปีนี้


ดร.ธีรวัฒน์ ธวัลรัตน์โภคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบันชีและการเงิน บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 10 ส.ค.66 ว่าผลประกอบการของบริษัทฯในงวด 6 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 66 บริษัทมีรายได้รวม 1,335.16 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 181.49 ล้านบาท

โดยผลประกอบการที่เติบโตเป็นผลจากพอร์ตสินเชื่อจากพัฒนาการของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับจากต้นปีจนถึงในช่วงไตรมาส 2/66 เติบโตกว่า 13.40% โดยสินเชื่อหลักมีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญร่วม 7,000 ล้านบาท นั่นคือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้สอดคล้องกับแนวทางกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนบริษัท เนื่องจากผู้บริโภคมีคาแรคเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปต้องการที่จะผันตัวเองจากการเป็นลูกจ้างมาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น

ดังนั้นผลิตภัณฑ์นี้ค่อนข้างที่จะตอบโจทย์ในการให้บริการสินเชื่อ และสอดคล้องกับนโยบายบริษัทที่จะให้บริการทางการเงินไปสู่ท้องถิ่น ลำดับถัดมาพอร์ตสินเชื่อที่จะมีขนาดเล็กลง ก็คือสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ แต่พอร์ตสินเชื่อประเภทนี้ก็ยังคงเป็นพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่เพราะว่าบริษัทได้รับรางวัลประเภทผู้จัดสินเชื่อรถมือสองยอดเยี่ยม อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงคาแรคเตอร์หันมาต้องการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ปัจจัยนี้อาจส่งผลบวกต่อธุรกิจ

“สำหรับโครงสร้างสินเชื่อของบริษัทจำนวน 13,600 ล้านบาท มีอยู่ทั้งหมด 97% ที่เป็นสินเชื่อประเภทมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นคนต่างจังหวัดจึงมักใช้รถกระบะ หรือรถยนต์นั่งในการค้ำประกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทางบริษัทฯ มั่นใจว่าจะยังคงสามารถรักษาระดับไว้ได้อยู่”  ดร.ธีรวัฒน์ กล่าว

ดร.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของคุณภาพของพอร์ตลูกหนี้ บริษัทฯ ยอมรับว่าตอนนี้คุณภาพของพอร์ตลูกหนี้ อาจมีระดับ NPLs ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดีทางบริษัทอาจจะมีการตัดหนี้สูญในไตรมาส 2/66 ช้า ทำให้ภาพลักษณ์ออกมาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่บริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาระดับ NPLs ให้อยู่ที่ 2.9%

ด้านการทำธุรกิจนี้อาจมีปัจจัยความเสี่ยงที่จะกระทบต่อกิจการ ทางบริษัทจึงมีการตั้งสำรองไว้ในงบการเงินโดยใช้โมเดล TFRS9 บวกกับรายการ management overlay ตั้งสำรองค่อนข้างที่จะสูงขึ้น ดังนั้นภาพสะท้อนของความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย (Credit cost) อยู่ที่ 3% ECL ปรับตัวสูงขึ้นจาก 4.5% เป็น 4.6%

ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการสินเชื่อ สอดคล้องกับโครงสร้างพอร์ต เมื่อพอร์ตประเภทจำนำทะเบียนรถมีการเติบโต ก็ส่งผลให้โครงสร้างของรายได้จำนำทะเบียนรถเป็น 53% ส่วนรายได้จากการเช่าซื้อลดจาก 50% ในปลายปีก่อนเหลือ 40% การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพอร์ตที่ผ่านมาทำให้ขนาดของรายได้ดอกเบี้ย 1,181 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.2%

โดยปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากความสามารถของการกักเก็บยีลด์ ของบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จาก 17.6% เป็น 18.4% ปัจจุบันบริษัทได้ทำการพูดคุยกับสถาบันการเงินเพื่อจะขอลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากปัจจุบันความเชื่อมั่นระดับเครดิตของธุรกิจนั้นดีขึ้น โดยได้รับการประเมินจาก บริษัท ทริส เรทติ้ง อยู่ในระดับ BBB ด้วยปัจจัยนี้จะทำให้บริษัทฯ เข้าสู่การออกหุ้นกู้คาดว่าในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ค่าใช้จ่ายธุรกิจจะผันแปรตามการเปลี่ยนแปลงของพอร์ตสินเชื่อ โครงสร้างสาขา และบุคลากร ค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท จาก 400 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบาท เกิดจากการขายสาขาของธุรกิจไปยังท้องถิ่นมากขึ้นโดยสามาถดูแลได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดีขนาดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income) ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ความสามารถในการทำกำไรถ้ามองในด้านของเปอร์เซ็นต์ของการทำกำไรสุทธิอาจมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้รายจ่ายหลักๆ ทั้งนี้รายจ่ายหลักๆ เป็นรายจ่ายในการสำรองป้องกันความเสี่ยง และรายจ่ายด้านบุคลากรที่เข้ามาสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทำให้เกิดภาพของกำไรที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังเป็นภาพบวก

“สำหรับครึ่งปีหลังบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และจะเปิดเพิ่มเติมอีก 22 สาขา ส่วนในปีหน้ามีแผนจะขยายสาขาอีก 350 สาขา ด้านโครงการร่วมทุนอาจจะมีข่าวดีในไตรมาส 4 ของปีนี้” ดร.ธีรวัฒน์ กล่าว

Back to top button