BANPU กำไร 6 เดือนแรก 4 พันล้าน เร่งปรับกลยุทธ์ลดกระทบ “พลังงาน” ผันผวน

BANPU รายงานกำไร 6 เดือนแรกปีนี้แตะ 4 พันล้านบาท เดินหน้าปรับกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์พลังงานผันผวน


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 นี้ บ้านปูยังสามารถรักษาเสถียรภาพของการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจไว้ได้ แม้ว่าสถานการณ์พลังงานโลกและสภาพอากาศมีความผันผวน ซึ่งล้วนส่งผลต่อแนวนโยบายในแต่ละประเทศ

รวมทั้งแนวโน้มในอุปสงค์และอุปทานของการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าข้างเคียงโรงไฟฟ้า Temple I ที่มีอยู่เดิม และเป็นสินทรัพย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและสร้างกระแสเงินสดได้ทันที สามารถต่อยอดและผนึกกำลังร่วมกับโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในสหรัฐฯ ผนวกกับการยกระดับความยั่งยืนในกระบวนการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) มาใช้

โดยดำเนินการครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโกลด์จาก IES TrustWell จาก Project Canary ในฐานะแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความรับผิดชอบ (Responsibly Sourced Gas)”

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ด้านกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง ยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดีและมั่นคง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เผชิญกับสภาวะราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เน้นบริหารจัดการเงินทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด เพื่อให้คงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทยและโรงไฟฟ้าเอชพีซีในลาว ยังคงสามารถรักษาค่าความพร้อมจ่าย (EAF) ไว้ได้ในระดับสูง ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 โรงไฟฟ้า Temple I ในสหรัฐฯ ก็สร้างผลกำไรจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในรัฐเท็กซัสที่ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มของแสงที่สูง นอกจากนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ในเวียดนามยังสร้างแล้วเสร็จและผ่านกระบวนการทดสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า (Commissioning) เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างยื่นเอกสารเพื่อขอเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จากทางการเวียดนาม

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) มีการเติบโตต่อเนื่องสอดรับกับนโยบายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษของภาครัฐ (Zero Emission Vehicle: ZEV) พร้อมช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ บริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในดูราเพาเวอร์  (Durapower) เป็น 65.10% เพื่อต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานในอนาคต ตั้งเป้ากำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในปีหน้า ในส่วนของธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าในภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 500 ราย ในครึ่งปีแรกของปี 2566 เป็นจำนวนรวม 268 กิกะวัตต์ชั่วโมง

สำหรับในประเทศไทย บริษัทฯ ยังนำเสนอโซลูชันพลังงานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนมาโชว์เคสในโครงการ ‘Infinite Cafe Powered by Banpu NEXT’ ป๊อบอัพคาเฟ่ที่ใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร ผ่านระบบผลิตไฟฟ้าแบบ Off-Grid ที่มีระบบโซลาร์พร้อมแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้า เพื่อขยายสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม ในขณะที่บริษัทร่วมทุนของบริษัทฯ ได้ชนะการประมูลโครงการจัดทำระบบความเย็นให้แก่อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อีกด้วย

“บ้านปูยังคงเดินหน้าต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวปฏิบัติของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD: Task Force on Climate-related Financial Disclosures) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชนและแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม

ตอกย้ำเป้าหมายในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG ที่เรายึดถือมาโดยตลอดนับตั้งแต่ตั้งต้นธุรกิจ นับจากนี้บ้านปูกำลังเดินหน้าสู่ทศวรรษต่อไป ควบคู่ไปกับการขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานแห่งโลกอนาคต พร้อมขับเคลื่อนไปอีกขั้นสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คนอย่างยั่งยืน (Power a Better Living for All)” นางสมฤดี กล่าว

Back to top button