SCGC จับมือ “บราสเคม” ลุยตั้งโรงงานผลิต “เอทิลีนชีวภาพ” ในไทย

SCGC ผนึกกำลัง “บราสเคม” ลุยตั้งโรงงาน “เอทิลีนชีวภาพ” ในไทย ตั้งเป้ากำลังผลิต 200,000 ตันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการพลาสติกชีวภาพเอเชียและตลาดโลก


บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน จับมือบราสเคม (Braskem) ผู้ผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชั้นนำระดับโลก เพื่อลงนามในสัญญาร่วมทุน (Joint venture agreement) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่

โดยตั้งเป้าผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ภายใต้แบรนด์ I’m green™ (แอมกรีน) ที่ผลิตโดยเทคโนโลยี อีทีอี เอเวอร์กรีน ( EtE EverGreen™) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอมมุส เทคโนโลยี แอล ซีซี (Lummus Technology LCC) และ บราสเคม บี วี (Braskam B.V.) ในการร่วมพัฒนาและถือครองสิทธิเทคโนโลยีดังกล่าว

สำหรับโรงงานเอทิลีนชีวภาพแบรนด์ I’m green™ แห่งนี้ ถือเป็นโรงงานแห่งแรกนอกประเทศบราซิล ที่จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตให้กับแบรนด์ I’m green™ จำนวน 200,000 ตัน ต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของพลาสติกชีวภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียและยุโรป

สำหรับพลาสติกชีวภาพ I’m green™ เป็นพลาสติกที่ผลิตจากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล   เช่น แนฟทาจากน้ำมัน พลาสติกชีวภาพนี้มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) จึงเป็นการส่งผลดีต่อโลกและสภาพแวดล้อม ในปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพ I’m green™ สามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มไปจนถึงผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลบ้าน ของเล่น ของใช้ในบ้าน และถุงพลาสติก นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพ I’m green™ ยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป

โดยการผนึกกำลังในการนำความเชี่ยวชาญด้านพลาสติกชีวภาพของบราสเคม กับความเป็นผู้นำในตลาดเอเชียและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตพอลิเอทิลีนของเอสซีจีซี ถือเป็นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งสำหรับการร่วมทุนในครั้งนี้  โดยบราสเคมจะมอบการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยี อีทีอี เอเวอร์กรีน (EtE EverGreen™)  และประสบการณ์ด้านปฏิบัติการในกระบวนผลิต ผสานกับเอสซีจีซีที่มีศักยภาพเป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค

ด้านนายโรแบร์โต้ บิสชอฟฟ์ (Roberto Bischoff) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบราสเคม เผยว่า “เรามองเห็นโอกาสและความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาด  I’m green™ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสำหรับลูกค้าที่มองหาโซลูชันเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือกับ SCGC นี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ Braskem ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 แทนที่ฟอสซิลด้วยวัตถุดิบหมุนเวียน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยว่า SCGC มีเป้าหมายที่จะพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดย SCGC ได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance)

การร่วมทุนและเป็นพันธมิตรระหว่าง SCGC กับ Braskem เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของ SCGC ในการรุกธุรกิจกรีน ตอบเมกะเทรนด์ที่มีความต้องการพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและยุโรป ทั้งนี้ การร่วมทุนดังกล่าว ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตรแทนเอทิลีนจากฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก โดย SCGC จะนำเอทิลีนชีวภาพไปผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ESG ของ SCGC และนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไปยังอนาคตและเน้นให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืน บราสเคมพร้อมส่งมอบคุณค่าให้กับทั้ง value chain ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยพนักงานกว่า 9,000 คน ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมด้านเคมีและพลาสติก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน DNA ของบราสเคมเน้นการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเพื่อตอบโจทย์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร การก่อสร้าง การผลิต ยานยนต์ เกษตรกรรม สุขภาพและสุขอนามัย และอื่น ๆ อีกมากมาย มีโรงงานผลิตกว่า 40 แห่งในประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และเยอรมนี โดยส่งออกสินค้าไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

Back to top button