“เจพีมอร์แกน” ปรับคำแนะนำ “ขาย” SCB พ่วงหั่นเป้าเหลือ 98 บาท

“เจพีมอร์แกน” หั่นราคาเป้าหมาย SCB เหลือ 98 บาท จากเดิม 110 บาท พร้อมลดคำแนะนำเป็น “ขาย” จากเดิม “ถือ” หลังมองผลขาดทุนด้านเครดิตทั้งปี รวมถึงการชะลอตัวลงของ AutoX ที่กระทบต่อมูลค่าพรีเมียมของหุ้น


เจพี มอร์แกน วานิชยกิจสหรัฐฯ (JPM) ระบุว่า จากแนวโน้มดำเนินงานของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB คาดว่าอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ทั้งปีอยู่ที่ 184bps ซึ่งเท่ากับในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้มีมุมมองเชิงลบที่สูงขึ้นนอกจากนั้นยังมีปัญหาที่พบในการดำเนินงานของ CardX และการชะลอตัวลงของ AutoX ซึ่งอาจส่งผลต่อมูลค่าพรีเมียมของหุ้นได้ในระยะสั้น

ทั้งนี้ JPM ปรับลด EPS ปี 66/67 ลง 9% และ 4% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดราว 1-8% จากเดิมที่มองไว้ 13.06 บาท และ 14.41 บาท ในปี 66/67 ลดลงมาเหลือ 11.84 บาท และ 13.79 บาท ตามลำดับ โดยมี Credit Cost สูงเป็นตัวกดดัน

โดยราคาหุ้นในปัจจุบันซื้อขายอยู่ในระดับ 25% พรีเมียมของอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/B) ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงจุดสูงที่สุดในปีนี้ โดยมีปัจจัยหลักสองประเด็นที่ทำให้โดนเด่นกว่าคู่แข่งคือ 1) มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ดีกว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปรับโครงสร้างไป และ 2) การเติบโตในระยะยาวที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม JPM ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่แน่นอนระยะสั้นในระดับหนึ่งของทั้งสองปัจจัยข้างต้นของ SCB จึงเป็นสาเหตุให้ JPM หั่นราคา

– CardX มีความผิดพลาดในการดำเนินงานของระบบเมื่อช่วงต้นปีที่รวมถึงการ mismatch ของรายละเอียดลูกค้าในหลาย ๆ ส่วนซึ่งจะส่งผลต่อการเก็บหนี้ และภาระหนี้สิน จึงทำให้ธนาคารต้องตั้ง Credit Cost ในไตรมาสที่สองเป็น 201bps (เทียบกับ 166bps 1Q66 และ 125bps ในช่วงครึ่งหลังปี 65) โดยขณะนี้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ จึงอาจทำให้การเติบโตลดลง และต้องมีตั้งสำรองที่สูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

นอกจากนี้ เรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปิดตัวธุรกิจใหม่ๆ ของกลุ่ม SCBx ที่อาจสร้างข้อกังขาถึงความสามารถของธนาคารในการปรับ/ขยายธุรกิจใหม่

ทั้งนี้ JPM ระบุว่า ความเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์มีอยู่ 2 สาเหตุ ได้แก่ 1) การตัดหนี้สูญ (write-off) ที่ยังยืดเยื้อของ CardX ในไตรมาส 3 และ 2) สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer Credit) ที่อ่อนแอลง เนื่องจาก SCB มีสัดส่วนที่ค่อนข้างมากในด้านนี้

สำหรับการตั้งสำรองธุรกิจ Gen2 ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,110bps ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับปกติของธนาคารราว 600bps และการตั้งสำรองอีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นก็มาจาก Card X

นอกจากนั้นแล้ว การใช้จ่ายจากภาครัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่เกิดขึ้นเมื่อกลางปีส่งผลให้กระแสเงินสดของผู้กู้ตึงตัว โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นล่าง และส่งผลต่อการดำเนินงานของ AutoX

SCB ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (M-Rate) หลังจากที่ ธปท.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนสิงหาคม โดยมาจากสองสาเหตุ คือ 1) ธนาคารจะต้องขึ้นอัตราผลตอบแทนของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) หากธนาคารขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นการกดรายได้จาก NIM และ 2) ความกังวลด้านภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หาก CardX สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และจำกัดผลเสียจากเรื่องดังกล่าวได้ก็จะทำให้กลับมาอยู่ในช่วงการเติบโตอีกครั้ง ซึ่งจะเป็น Upside Risk ต่อมุมมองของ JPM

ทั้งนี้ JPM คาดว่า SCB จะเห็นการเติบโตของกำไรในปีนี้ขึ้นมาแตะ 3.98 หมื่นล้านบาท และจะสูงขึ้นเป็น 4.64 หมื่นล้าน และ 5.05 หมื่นล้านบาท ในปี 67-68 ส่วน NIM ในปี 66-68 อยู่ที่ 3.6%, 3.7% และ 3.5% ตามลำดับ

X
Back to top button