“ทองนิวยอร์ก” ปิดบวก 13.40 เหรียญ รับดอลลาร์อ่อนค่า

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดบวกในวันศุกร์ (6 ต.ค.66) โดยได้แรงหนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หนุนราคาสัญญาทองคำดีดตัวขึ้น และจากการดีดตัวขึ้นทางเทคนิคหลังร่วงลง 9 วันติดต่อกัน


สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดบวกในวันศุกร์ (6 ต.ค.66) โดยได้แรงหนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงและจากการดีดตัวขึ้นทางเทคนิคหลังร่วงลง 9 วันติดต่อกัน แม้การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำให้ราคาสัญญาทองคำยังคงลดลงในรอบสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อก็ตาม

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 13.40 ดอลลาร์ หรือ 0.73% ปิดที่ 1,845.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 70.40 เซนต์ หรือ 3.35% ปิดที่ 21.723 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 19.00 ดอลลาร์ หรือ 2.20% ปิดที่ 881.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 18.20 ดอลลาร์ หรือ 1.59% ปิดที่ 1163.10 ดอลลาร์/ออนซ์

โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ได้ช่วยหนุนราคาสัญญาทองคำดีดตัวขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.28% สู่ระดับ 106.0454 โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำมีราคาที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม สัญญาทองคำยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (6 ต.ค.66) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 336,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวนับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ส่วนอัตราการว่างงานยังทรงตัวที่ระดับ 3.8% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลงสู่ระดับ 3.7%

สำหรับตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

Back to top button