DSI ตรวจค้น 2 บริษัทห้องเย็น “นครปฐม” เอี่ยวหมูเถื่อน พบไม่มีใบอนุญาต

DSI ตรวจค้นบริษัทห้องเย็น 2 แห่งและบ้านพักกรรมการฯ ในจังหวัดนครปฐมเกี่ยวข้องคดีลักลอบนำเข้าหมูแช่แข็ง พบไม่มีใบอนุญาตให้จำหน่ายและเคลื่อนย้ายเนื้อสัตว์


คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสามควายเผือก จังหวัดนครปฐม ได้นำหมายค้นศาลอาญาที่ 1484/2566 หมายค้นศาลอาญาที่ 1485/2566 และ หมายค้นศาลอาญาที่ 1486/2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 เข้าทำการตรวจค้นเพื่อยึดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าสุกรแช่แข็งในคดีพิเศษที่ 103/2566 โดยทำการตรวจค้นสถานที่ จำนวน 3 แห่ง โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้

​1.บริษัทประกอบธุรกิจห้องเย็น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตรวจพบว่าบริษัทได้กระทำความผิดข้อหาจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์จากพนักงานตรวจโรค ซึ่งเป็นฐานความผิดที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม  จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน จำนวน 25,000 บาท โดยผู้ต้องหายินยอมเปรียบเทียบปรับตามความผิดดังกล่าว และไม่พบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษแต่อย่างใด

​2.บริษัทประกอบธุรกิจห้องเย็น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการตรวจยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดีพิเศษไว้เพื่อตรวจสอบ และตรวจพบซากสุกร (หมูสามชั้น) จำนวน 7 ตัน ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการตรวจยึดซากสุกรดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสามควายเผือกดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ประกาศควบคุมโรคอหิวาตกโรคในสุกร (ห้ามไม่ให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ในเขตห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต)

​3.บ้านพักอาศัยของกรรมการบริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมาบแค อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จากการตรวจค้นไม่พบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษแต่อย่างใด

เหตุของการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้สืบเนื่องกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่นำเข้าชิ้นส่วนสุกรจำนวน 33 ตู้ จากของกลางจำนวน 161 ตู้ ในคดีพิเศษที่ 59/2566 จากการสืบสวนสอบสวนขยายผลพบว่า นายธนกฤต (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 3654/2566 และนายวิรัช  (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 3655/2566 ที่ถูกจับกุมไปก่อนนี้ มีการรับโอนเงินจำนวนกว่า 200 ล้านบาท จากกรรมการบริษัทเจ้าของห้องเย็นที่ทำการตรวจค้นในวันนี้

โดยไม่ปรากฏธุรกรรมการซื้อขายสินค้าระหว่างกันแต่อย่างใด ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 64 และ พ.ศ. 65 จึงมีการแยกการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 103/2566 และนำมาสู่การขอหมายศาลเพื่อตรวจค้นพยานหลักฐาน โดยพบว่านายธนกฤต และนายวิรัช  ผู้ต้องหาของคดีพิเศษที่ 59/2566 มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเจ้าของห้องเย็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดกันเนื่องจากเคยทำงานในบริษัทเดียวกันมาก่อน

Back to top button