ADVANC ปิดดีลซื้อ 3BB-JASIF ชิงธงธุรกิจเน็ตบ้าน ดันรายได้โตระยะยาว

ADVANC ปิดดีลซื้อ 3BB-JASIF ชิงธงธุรกิจเน็ตบ้าน “ฟิทช์ เรทติ้งส์ อัพเครดิต “AAA” (tha) ชี้เพิ่มสถานะทางการแข่งขันที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อการทำกำไรระยะยาว ด้านโบรกมองบวกในระยะกลางถึงยาวและคาดว่า JASIF จะทำรายได้ให้ประมาณปีละ 800-900 ล้านบาท


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการดิจิทัลบนโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1460 MHz (นับรวมคลื่นความถี่ที่ร่วมมือกับพันธมิตรรวมถึง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.) และมีจำนวนผู้ใช้งานล่าสุดกว่า 45.3 ล้านเลขหมาย

โดยบริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre, ธุรกิจลูกค้าองค์กร และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนต์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบริการร่วมกับพาร์ตเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเดินหน้าตามวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ที่พร้อมนำศักยภาพเข้าสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ดังนั้นทาง ADVANC แม้ว่าจะมีทั้งฐานลูกค้าในมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านอยู่แล้ว แต่ต้องการขยายฐานและสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดด จึงเป็นที่มาของการเข้าไปซื้อบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB รู้จักในนาม 3BB และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF เพื่อให้สอดรับกับการขยายฐานการให้บริการในอนาคต

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ADVANC ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นใน TTTBB และ ADVANC ได้เข้าซื้อหน่วยลงทุน JASIF รวมเรียกทั้งสองธุรกรรมว่าธุรกรรมซื้อหุ้นและหน่วยลงทุนเสร็จสมบูรณ์ เป็นผลให้ TTTBB เป็นบริษัทย่อยของ AWN และ AIS เข้าถือหน่วยลงทุนใน JASIF ในสัดส่วนร้อยละ 19 เป็นที่เรียบร้อย ตามมูลค่าธุรกรรมซื้อหุ้นและหน่วยลงทุนที่มีการปรับจากมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท เป็น 28,371 ล้านบาท

ส่วนรายละเอียด 1) ปรับลดจากผลกระทบเชิงลบที่มีนัยสำคัญ (Material Adverse Change: MAC) จำนวน 3,000 ล้านบาท ออกจากมูลค่าธุรกรรมซื้อหุ้น TTTBB จำนวน 19,500 ล้านบาท จากการประเมินสถานะของธุรกิจ (Due Diligence) เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และผลการดำเนินงานของ TTTBB ที่ได้รับผลกระทบจากการ แข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์

2) หักเงินปันผลที่ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้รับจาก JASIF หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ธุรกรรมซื้อหุ้นและหน่วยลงทุนเสร็จสมบูรณ์ จำนวน 1,049 ล้านบาท ออกจากมูลค่าธุรกรรมซื้อหน่วยลงทุน JASIF จำนวน 12,920 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้เปิดเผยไว้ในสารสนเทศรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ลูกค้า AIS Fibre และ 3BB ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ ด้วยมาตรฐานบริการคุณภาพ พร้อมเพิ่มเติมด้วยประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ทั้งความครอบคลุมของเครือข่าย, นวัตกรรมทันสมัยตอบโจทย์การใช้งานแต่ละกลุ่ม รวมถึงบริการดิจิทัล คอนเทนต์ และสิทธิพิเศษที่คุ้มค่าและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ ADVANC และบริษัทย่อย AWN ที่ระดับ ‘AAA (tha)’ จากเดิม AA+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของทั้งสองบริษัทที่ ‘F1+(tha)’

สำหรับการปรับอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนภาพธุรกิจของ AIS ที่แข็งแกร่งขึ้น ภายหลังจากการเข้าซื้อ TTTBB ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านรายใหญ่ลำดับที่สอง โดยฟิทซ์มองว่าการเข้าซื้อธุรกิจดังกล่าวของ AIS จะทำให้มีการขยายฐานรายได้ไปยังธุรกิจอื่นที่มิใช่โทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ร่วมกับทำให้สถานะทางการตลาดที่จะแข็งแกร่งขึ้นมาก และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้และความสามารถในการทำกำไรในระยะกลางถึงยาว

ขณะเดียวกันฟิทซ์ยังคาดว่า AIS จะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินได้ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ โดยที่อัตราส่วนการก่อหนี้เทียบกับกำไร EBITDA (EBITDA net Leverage) หลังการทำรายการจะอยู่เพียง 1.4 เท่า ในปี 2566 และปี 2567 เทียบกับปี 2565 ที่ 1.0 เท่า

นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าการเข้าซื้อกิจการ TTTBB สอดคล้องกับการเพิ่มสถานะทางการแข่งขันที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อการทำกำไรของ AIS การซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้เอไอเอสมีการเพิ่มสัดส่วนของรายได้ธุรกิจบริการโทรคมนาคมอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น อินเทอร์เน็ตบ้านและโทรทัศน์ และจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของเอไอเอส นอกจากนั้นฟิทซ์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากอินเทอร์เน็ตบ้านจะสูงขึ้นเป็นประมาณ 18% หลังจากการซื้อกิจการ ซึ่งสูงขึ้นจาก 7% ก่อนหน้านี้

อีกทั้งการเข้าทำรายการดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการตลาดของ AIS ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย โดยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็นประมาณ 35% จาก 16% ในปี 2565 ใกล้เคียงกับ 38% ของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดอย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE. นอกจากนี้การเข้าซื้อ 3BB จะช่วยให้ AIS สามารถเข้าถึงตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านนอกเมือง และเพิ่มสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดพื้นที่เขตเมือง

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกกับการที่ ADVANC เข้าซื้อ 3BB โดยเฉพาะในระยะกลางถึงยาว โดยประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ผลกระทบทางด้านบัญชีจากการมี 3BB และ JASIF ซึ่งจะมีภาระสองด้านจากการนำ 3BB เข้ามาอยู่ในงบรวม ด่านแรกคือผลขาดทุนจากธุรกิจหลัก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2 พันล้านบาทในปี 2566 และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการกู้เงิน 3 หมื่นล้านบาทสำหรับดีลนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจาก ADVANC ถือหน่วย JASIF อยู่ 19% และคาดว่า JASIF จะทำรายได้ให้ ADVANC ประมาณปีละ 800-900 ล้านบาท

โดยภาระดอกเบี้ยดังกล่าวจึงจะหักล้างไปกับส่วนแบ่งกำไรจาก JASIF ดังนั้นจึงเหลือเพียงประเด็นผลขาดทุน 2 พันล้านบาท จาก 3BB ที่ ADVANC ต้องจัดการ ทั้งนี้มีหลายแนวทางที่ ADVANC สามารถใช้บรรเทาผลกระทบจากภาระขาดทุนของ 3BB ซึ่งมีทั้งการเติบโตตามปกติของธุรกิจ FBB, การรับรู้ซินเนอร์ยี่และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากผลขาดทุนในอดีต โดย ADVANC คาดการณ์ว่าผลขาดทุนจาก 3BB ในปี 2567 จะน้อยกว่า 2 พันล้านบาท และ 3BB น่าจะถึงจุดคุมทุนในระดับกำไรสุทธิได้ในปี 2568

สำหรับการที่ ADVANC เข้าถือ 3BB-JASIF นับว่าชิงธงฐานลูกค้าในมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคตต่อไป ฟาก “ฟิทช์ เรทติ้งส์ อัพเครดิต “AAA” (tha) ลั่นเพิ่มสถานะทางการแข่งขันที่ยั่งยืนและทำกำไรระยะยาว

Back to top button