“เศรษฐา” จากซีอีโอหมื่นล้าน สู่ “นายกรัฐมนตรี” ภารกิจเร่งฟื้นเศรษฐกิจปี 67

แม้ว่า “เศรษฐา ทวีสิน” จะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและทุกคนให้การยอมรับ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีในระหว่างการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง” เพราะมีปัจจัยหลายปัญหาที่ยังรอให้มีการแก้ไข ซึ่งประชาชนต่างฝากความหวังเอาไว้ อยากเห็นนโยบายต่างๆทำได้จริงในปี 2567


ปรากฎการณ์ทางการเมืองใหญ่อย่างหนึ่งในปี 2566 ทีผ่านมานี้ คงหนีไม่พ้นการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลจากกลุ่มอำนาจ 3 ป. จนมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแข่งขันว่าใครจะได้เป็นธงนำในการจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางกระแสของพรรคก้าวไกลมาแรงสูสีกันกับพรรคเพื่อไทย คราวนี้ยังคงส่งคนในตระกูลชินวัตรมาลงหาเสียงและเป็นแคนดิเดต ก็คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่ในขณะเดียวกันอีกไฮท์ไลท์ที่จับตาก็คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจใหญ่อสังหาริมทรัพย์

แต่ถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วอย่างที่รู้กัน ฝ่ายเพื่อไทยแม้จะพ่ายให้กับก้าวไกล แต่ก็ใช้กลยุทธ์จนสามารถรวมเสียงจัดตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ นายเศรษฐา ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด และยังควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปด้วย

เมื่อหันมาดูการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐานั้น แม้ว่าจะไม่ได้เหนือความคาดหมายจากคอการเมือง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากนายเศรษฐาไม่เคยเป็นคนที่ทำการเมืองมาก่อน แต่ถ้าพูดถึงในแวดวงธุรกิจแล้วชื่อชั้นของนายเศรษฐาเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะแวดวงของธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

ย้อนร้อยก่อนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา เคยเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI โดยช่วงที่นายเศรษฐานั่งเป็นผู้บริหารนั้น SIRI ถือเป็นบริษัทชั้นนำที่ทำรายได้และกำไรมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ SIRI สามารถพัฒนาโครงการต่างๆอย่างไม่หยุด ก่อสร้างที่อยู่อาศัยตอบโจทย์ตลาด กลายเป็นที่ผู้บริโภคไว้วางใจเป็นอย่างมากในชื่อชั้นของแบรนด์

แม้ว่านายเศรษฐาจะเป็นนักธุรกิจใหญ่ แต่ก็ยังใหม่ประสบการณ์ด้านการเมือง  ที่ผ่านมานายเศรษฐามักจะแสดงความคิดเห็นอยู่บ้างในเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในชุดที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เคยที่จะลงมาคลุกคลีกับการเมืองอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพียงประชาชนและนักธุรกิจคนหนึ่งเท่านั้น

กระทั่งวันที่ตัดสินใจก้าวออกจาก SIRI และลงมาช่วยงานการเมืองอย่างเต็มตัว  นายเศรษฐาก็เลือกที่จะเลือกสวมเสื้อของเพื่อไทยอย่างไม่เหนือความคาดหมาย โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยเป็นการมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ และเดือนมี.ค. 2566 ก็ได้รับความไว้ใจแต่งตั้ง ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยเป็นการกรุยทางเพื่อพร้อมลงเป็นทีมงานช่วยพรรคหาเสียง แต่กระนั้นก็มีหลายคนจับตาว่า นายเศรษฐา จะเป็นแคนดิเดตอย่างแน่นอนในการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยการขายจุดแข็งความชำนาญด้านธุรกิจ หวังมากอบกู้ประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงท้าทาย

จนสุดท้ายแล้วเศรษฐาและพรรคเพื่อไทย ฝ่าด่านสว.จนรวมเสียงจัดตั้งได้ในที่สุด แม้ว่ากระท่อนกระแท่นแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งพอจะทำให้มีเสถียรภาพอย่างมั่นคงในตอนนี้ และเริ่มต้นการทำงานทันทีแบบไม่รีรอหลังจากได้รับตำแหน่ง

สำหรับปัญหาใหญ่หลังรับเลือกตั้ง เรื่องของการเมืองอาจจะไม่ทำให้สั่นคลอน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการกระเพื่อมของเรือลำนี้ก็คือนโยบายหลายอย่างที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะการกระจายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท ที่ส่อเค้าจะทำได้อย่างยากลำบาก คำถามใหญ่ที่ตามมาคือจะเอาเงินมาจากไหน อย่างไร จนท้ายที่สุดต้องมีการกำหนดเงื่อนไข ไม่สามารถแจกจ่ายได้หมดทุกคนเหมือนตอนหาเสียง จนกลายเป็นเสียงวิจารณ์ที่ตามมาทันที ที่อาจจะลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลได้

เมื่อหันมาดูทางด้านการขานรับของนักลงทุน ที่คาดกันว่าจะได้รับเสียงต้อนรับหลังจากมีรัฐบาลใหม่ ก็ปรากฎว่าไม่สู้ดีมากนัก เนื่องจากมีภาวะปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากนัก แม้ว่านายเศรษฐาจะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองด้วยก็ตาม และอีกหนึ่งปัญหาที่กระทบต่อการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนตอนนี้ก็คือ Program Trading ที่ล่าสุด นายเศรษฐา ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้มีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ไปแล้ว โดยปัญหาดังกล่าวเป็นอำนาจที่ตลท.และก.ล.ต. จะพิจารณาและดำเนินการ ซึ่งหากผลสรุปออกมาว่าไม่ควรก็ไม่ควรมี  ซึ่งตอนนี้ต้องรอลุ้นคำตอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% จึงต้องจับตาว่า ในปี 2567 จะเป็นอีกปีที่รัฐบาลได้ใช้ฝีมืออย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาต่างๆทางด้านเศรษฐกิจ ท่ามกลางความคาดหวังในการเห็นนโยบายต่างๆที่เคยหาเสียงเอาไว้ทำได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การลดค่าครองชีพเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่ประชาชนรอคอยด้วยความหวังอยู่ในตอนนี้

Back to top button