STECH กดปุ่มสตาร์ท “สยามสตีลไวร์” ลุ้นโกยรายได้ต่อปี 700 ล้านบาท

STECH กดปุ่มเดินเครื่องการผลิตเชิงพานิชย์โรงงานผลิตลวดเหล็กในนาม “สยามสตีลไวร์” จ.ชลบุรี แล้ว ขนาดกำลังการผลิต 2,000 ตันต่อเดือน คาดว่าสร้างรายได้ที่ประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี พร้อมสู่การสร้าง New S-Curve ธุรกิจใหม่ ควบคู่การบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพ


นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า เริ่มต้นศักราชปีมังกรทอง โรงงานผลิตลวดเหล็กในนาม “สยามสตีลไวร์” ที่จังหวัดชลบุรี ได้ฤกษ์ดีเดินเครื่องการผลิตเชิงพานิชย์แล้ว โดยมีขนาดกำลังการผลิตที่ 2,000 ตันต่อเดือน ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกันกับโรงงานคอนกรีตแห่งที่ 10 คาดการณ์ว่าสร้างรายได้ที่ประมาณ 50-60 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี

โดยเครื่องจักรที่ติดตั้งโรงงานผลิตลวดเหล็ก เป็นเครื่องจักรที่มีความทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ซึ่งโดยปกติโรงงานผลิตลวดเหล็กโดยทั่วไปจะใช้น้ำกรดที่มีความเข้มข้นสูงในการทำความสะอาดลวด แต่โรงงานผลิตลวดเหล็กของ บริษัทจะไม่ใช้ระบบน้ำกรด แต่จะใช้วิธีการดัดลวดแล้วใช้กระดาษทรายทำความสะอาด ซึ่งเป็น โรงงานลวดเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ธีม “ลวดรักษ์โลก”

“โรงงานลวดที่กดปุ่มเดินเครื่องเรียบร้อยแล้ว ใช้รองรับสินค้าใหม่ในการพัฒนาโครงการของบริษัท ราว 30% และที่เหลือดำเนินการขายให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่ง โดยมองว่าธุรกิจใหม่จะสนับสนุน STECH เข้าสู่การสร้าง New S-Curve และการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าลวดนับเป็นประมาณ 20-30% ของต้นทุนการผลิต และจะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สร้างฐานกำไรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายวัฒน์ชัย กล่าว

ทั้งนี้สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ที่ผ่านมา สัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3/2566 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะทำให้งานโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศออกมามากขึ้น ส่งผลดีกับ STECH ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่จำเป็นสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง สนับสนุนผลงานทั้งปีเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ในปี 2566 บริษัทเชื่อว่า กำไรเติบโตขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีการควบคุมต้นทุนที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายโรงงานคอนกรีตแห่งที่ 10 มีกำลังการผลิตที่ประมาณ 30,000-40,000 คิวต่อปี สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 20-30% ของกำลังการผลิตรวม โดยมีการรับรู้รายได้จากการขยายงานในส่วนดังกล่าวเต็มปีในปี 2566 ที่ผ่านมา

อนึ่ง ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการติดตามงานที่ได้ยื่นประมูลไปแล้ว มูลค่ารวมประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโอกาสได้รับงานไม่ต่ำกว่า 50% ของการยื่นประมูล

Back to top button