INTUCH แจงคดี ITV จบข้อพิพาท “สปน.” ชนะไม่ต้องจ่าย 2.89 พันล้านบาท

INTUCH แจงศาลปกครองสูงสุดตัดสิน “ไอทีวี” ชนะคดีข้อพิพาทสปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโททัศน์ระบบ UHF เมื่อ 7 มี.ค. 2550 โดยไม่ต้องชำระหนี้กว่า 2.89 พันล้านบาท อีกต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ม.ค. 67) ณ เวลา 10:00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่าน คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ ๖๒๐/๒๕๕๙ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๙๔๘/๒๕๖๓ ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ร้อง) กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองนั้น

สำหรับคดี ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน อันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ จึงเป็นการดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งระบุไว้ในสัญญา แม้ข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๔๐/๒๕๕๐ ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เพื่อให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านไปดำเนินการโดยทางอนุญาโตตุลาการแล้ว

โดยผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับ และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอามูลค่าทรัพย์สินที่ ผู้คัดค้านส่งมอบให้แก่ผู้ร้องน้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งเป็นคู่กรณีคนละฝ่าย ไม่ใช่คู่กรณีฝ่ายเดียวกันยื่นคำเสนอข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องในเรื่องเดียวกัน และการเสนอข้อพิพาททั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นการเสนอข้อพิพาทต่อองค์กรชี้ขาดคนละองค์กร จึงไม่เข้าลักษณะเป็นของการเสนอข้อพิพาทซ้อน และสัญญาอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ ซึ่งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเดียวกันกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ และยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ ต่อไป ข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นจึงไม่อาจยุติหรือระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ

ต่อมา ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยบอกเลิกสัญญาขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาเข้าร่วมงาน ผู้คัดค้านจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาท และมูลพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเกิดจากที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเสนอข้อพิพาทคนละเรื่องกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ จึงไม่เป็นคาเสนอข้อพิพาทซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๑/๒๕๕๐ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๖/๒๕๕๐ หมายเลขแดงที่ ๑/๒๕๕๙ จึงเป็นคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ ตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕

ล่าสุด บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 52.92% ของทุนชำระแล้ว และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กรณีที่ไอทีวีได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้พิจารณาว่าการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ของ สปน. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น

โดยบริษัทขอเรียนให้ทราบว่าเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ได้พิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่าคำชี้ขาตของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งมีผลให้คดีนี้ถึงที่สุด โดยไอทีวีและสปน.ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,890,345,205.48 บาท (สองพันแปดร้อยเก้าสิบล้านสามแสนสี่หมื่นห้าหันสองร้อยห้าบาทสี่สิบแปดสตางค์

ทั้งนี้ จากผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ส่งผลให้ไอทีวีไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ หรือ ภาระหน้าที่ หรือความรับผิดตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ หรือภาระผูกพันใดๆ กับ สปน. อีกต่อไป ทั้งนี้ ไอทีวีจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาทิศทางของไอทีวีต่อไป (ตามที่ไอทีวีขี้แจงต่อผู้ถือหุ้นใน www.in.co th)

ด้านบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV  ระบุว่า ผลคำพิพาทของศาลปกครองสูงสุดกรณีข้อพิพาทระหว่างบริษัท และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กรณีที่ไอทีวีได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 เพื่อให้พิจารณาว่าการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 ของ สปน. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น

เมื่อในวันที่ 25 มกราคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ได้พิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งมีผลให้คดีนี้ถึงที่สุด โดยบริษัทและสปน. ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,890.345.205.48 บาท (สองพันแปดร้อยเก้าสิบล้านสามแสนสี่หมื่นห้าพันสองร้อยห้าบาทสี่สิบแปดสตางค์)

ทั้งนี้ จากผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทไม่มีหนี้ ที่ต้องชำระ หรือภาระหน้าที่ หรือความรับผิดดามสัญญาเข้าร่วมงานฯ หรือภาระผูกพันใดๆ กับ สปน. อีกต่อไป โดยบริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาทิศทางของไอทีวีต่อไป

Back to top button