“หุ้นเอเชีย” เปิดบวกตามดาวโจนส์ รับคาดการณ์ “เฟด” ลดดอกเบี้ย

“ตลาดหุ้นเอเชีย” เปิดบวกตามทิศทาง “ดัชนีดาวโจนส์” ที่ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาด รับคาดการณ์ “เฟด” อาจเริ่มพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย ด้าน “ดัชนีนิกเกอิ” พุ่งขึ้นต่อเนื่อง สวนทาง GDP ไตรมาส 4/66 ของญี่ปุ่นที่หดตัวลง 0.4%


ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกในวันนี้ (16 ก.พ. 67) ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ที่ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุด และดัชนี S&P500 ปิดทำนิวไฮในวันพฤหัสบดี (15 ก.พ. 67) หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

โดยดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว เปิดที่ระดับ 38,517.37 จุด เพิ่มขึ้น 359.43 จุด หรือ +0.94% และดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง เปิดที่ระดับ 16,007.54 จุด เพิ่มขึ้น 62.91 จุด หรือ +0.39%

สำหรับดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวขึ้น 0.91% และดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ บวก 0.84% ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการเนื่องในเทศกาลตรุษจีน และจะกลับมาเปิดทำการซื้อขายอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 19 ก.พ.

ขณะที่ดัชนีนิกเกอิพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2566 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่หดตัวลง 3.3% ในไตรมาส 3/2566 ทั้งนี้ การที่ GDP หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และส่งผลให้ญี่ปุ่นสูญเสียสถานะการเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี โดยขณะนี้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเป็นพิเศษ (ultra-loose monetary policy) ต่อไปเป็นเวลานานขึ้น

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเช้าวันนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ราคานำเข้าของเกาหลีใต้ดีดตัวขึ้นในเดือน ม.ค. 67 หลังจากที่ลดลงมาแล้ว 2 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากราคาน้ำมันแพงขึ้น โดยเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคานำเข้าของเกาหลีใต้เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 2.2% หลังจากที่ลดลง 1.7% ในเดือน ธ.ค. 66 และเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนีราคานำเข้าของเกาหลีใต้เดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 0.2%

ทั้งนี้ ราคานำเข้าเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมของประเทศ

Back to top button