บอร์ด รฟท. เคาะสร้าง “รถไฟทางคู่ เฟส 2” 3 เส้นทางงบ 1.33 แสนล้าน

บอร์ด รฟท.มีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง วงเงิน 1.33 แสนล้านบาท เตรียมชงครม. พร้อมเคาะปรับกรอบสีแดงช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต 6.47 พันล้านบาท


นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)​ เป็นประธาน วันที่ 22 ก.พ. 67 มีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143.23 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103.11 ล้านบาท 3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900.89 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนจากนั้น รฟท.จะสรุปเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)​

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 มีจำนวน 7 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 311,486 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้เคยนำเสนอเพื่อขออนุมัติหลักการไปแล้วทั้ง 7 เส้นทาง แต่เนื่องจากมีวงเงินลงทุนสูง จึงมีการจัดลำดับการดำเนินใหม่ โดยเส้นทางแรกที่ได้รับอนุมัติแล้วคือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำ TOR คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค. 2567 และเดินหน้าประกวดราคาต่อไป

อีก 3 เส้นทางที่บอร์ดเห็นชอบครั้งนี้ เป็นการเติมเต็มโครงข่าย ซึ่งออกแบบเสร็จแล้วและรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว พร้อมเปิดประมูลก่อสร้าง โดยช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์เป็นเส้นทางที่มีการลัดคิวขึ้นมาดำเนินการก่อน เพราะนโยบายรัฐบาลต้องการสนับสนุนการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเส้นทางระยะสั้น สามารถก่อสร้างได้เร็ว มีความคุ้มค่าในการลงทุน

สำหรับอีก 3 เส้นทางที่เหลือ คือ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 67,459.36 ล้านบาท และ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท นั้น รฟท.กำลังสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอบอร์ด รฟท.ในเดือน มี.ค. 2567 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาตามลำดับ

นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ยังอนุมัติการทบทวนกรอบวงเงินค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ซึ่งปรับจาก 6,468.69 ล้านบาท เป็น 6,473.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5.29 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการคำนวณค่า Factor F ซึ่งจะเร่งสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติเช่นกัน เนื่องจากเดิมทีเคยนำเสนอไปกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.แล้วแต่มีการดึงเรื่องกลับมาทบทวน และตัวเลขมีการขยับจากค่า Factor F ทำให้ต้องเสนอบอร์ด รฟท.เห็นชอบกรอบวงเงินใหม่

Back to top button