ครม.ผ่านกม.คุม “แอลกอฮอล์”ปรับเนื้อหาสมดุลมิติศก.-สุขภาพ ตีตกฉบับปชช.-เท่าพิภพ

ครม.ผ่านกฎหมายคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ปรับเนื้อหาสร้างสมดุลมิติเศรษฐกิจและมิติสุขภาพ แต่ตีตกฉบับประชาชน รวมถึงเท่าพิภพ ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยใช้แค่เนื้อหาบางส่วน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 มี.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่สั่งให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำไปจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมในมิติด้านเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว แล้วให้นำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้งก่อนรวบรวมส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาในคราวเดียวกับข้อเสนอแก้ไขของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีมิติด้านความสุขภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน ครม.ได้ตีกลับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล ก่อนครบกำหนดในวันที่ 9 มี.ค.นี้ โดยไม่เห็นชอบในหลักการ แต่รับจะนำเนื้อหาไปปรับปรุงในคราวเดียวกับการยกร่างฉบับใหม่ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม.วันนี้ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข หลังจากได้มีการบังคับใช้มานานแล้ว โดยได้เสนอแก้ไขมาในหลายส่วน ได้แก่ นิยามเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ระบุชัดว่า ถ้ามีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เพิ่มตัวแทนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมฯ พร้อมให้อำนาจหน้าที่เพิ่มเติมรัฐมนตรีรักษากำหนดห้ามและอนุญาตการบริโภคในสถานบริการและจุดจำหน่าย กำหนดเงื่อนไขเวลา รวมทั้งเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นเป็นปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

โดยมติ ครม.วันนี้ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการว่า พ.รบ.ที่ใช้อยู่ของเดิมจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ประชุมเห็นว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ต้องการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ จึงมีทิศทางความจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจที่จะต้องมีความผ่อนปรนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็คำนึงสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นมิติด้านสาธารณสุข

ดังนั้น ครม.จึงมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้ยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ แต่ขอให้มีการทบทวนสาระให้สมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพ และมิติด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จึงมอบให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปรีวิวว่ามิติด้านการท่องเที่ยวต้องผ่อนปรนจุดไหนบ้างภายใน 1 สัปดาห์ให้นำกลับมาเสนอครม.อีกครั้งเพื่อสรุปส่งให้กฤษฎีกาไปทบทวนเนื้อหาในคราวเดียว

“Key Messege คือต้องทำให้กฎหมายฉบับนี้มีความชัดเจนทุกมิติ เพื่อการบังคับใช้ที่ชัดเจนไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมืออย่างไม่ถูกต้อง มีความสมดุลทั้ง นิติด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และการผ่อนปรนจะต้องแม่นยำเฉพาะเจาะจงตามวัตถุประสงค์การกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว” นายชัย กล่าว

พร้อมกันนั้น ครม.ยังได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีก 3 ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา ซึ่ง 2 ฉบับเสนอโดยภาคประชาชน และอีกฉบับเสนอโอน ส.ส.พรรคก้าวไกล 2 ฉบับแรกที่เสนอโดยประชาชน และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ครม.มีความเห็นว่าควบคุมในแบบผ่อนปรนเกินไป ทำให้กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่เห็นด้วย ส่วนอีกฉบับหนึ่ง ที่เสนอโดยประชาชนมีเนื้อหาเข้มงวดเกินไป กฤษฎีกาจึงเห็นว่าไม่ควรรับหลักการ แต่ให้นำเนื้อหาบางส่วนไปประกอบกับฉบับที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมาในวาระแรก

  1. ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยนายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน
  2. ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ
  3. ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยนายเท่าพิภพ กับคณะ

Back to top button