นักลงทุนไทยแห่ “จดทะเบียนบริษัทใหม่” 2 เดือนแรก 4.5 หมื่นล้าน

“พาณิชย์” เปิดยอดบริษัทตั้งใหม่ 2 เดือนแรกปี 67 แตะ 1.7 แสนราย ทุนจดทะเบียนทะลุ 4.5 หมื่นล้านบาท รับภาคเอกชน-ก่อสร้าง-ส่งออกขยายตัว พ่วงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน 3 ธุรกิจจัดตั้งสูงสุดอาทิ ก่อสร้าง อสังหาฯ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า 2 เดือนแรกปี 2567 นักลงทุนไทยเข้าจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทุนจดทะเบียนรวมกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประเมินว่า ไตรมาสแรกของปี 67 จะมียอดจดทะเบียนจัดตั้ง 23,000-27,000 ราย และคาดการณ์ว่าปี 67 จะเป็นปีที่นักธุรกิจชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยเป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนหลากหลายสาเหตุ เช่น การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) กลับมาเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าช้าและหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึง นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตตามไปด้วย

“การจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ 17,270 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 45,794.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น 267 ราย หรือเพิ่มขึ้น 1.57% ส่วนทุนจดทะเบียนรวมเพิ่มขึ้น 5,807.51 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14.52% โดยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,378 ราย ทุนจดทะเบียน 3,020.09 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,311 ราย ทุนจดทะเบียน 5,275 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 743 ราย  ทุนจดทะเบียน 1,374.09 ล้านบาท” นางอรมน กล่าว

โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 905,544 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 21.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1) บริษัทจำกัด 703,449 ราย คิดเป็นสัดส่วน 77.68% 2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 200,644 ราย คิดเป็นสัดส่วน 22.16% และ 3) บริษัทมหาชนจำกัด 1,451 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.16%

ส่วนธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 1,898 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,361.29 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจลดลง 268 ราย หรือลดลง 12.37% ทุนจดทะเบียนรวมลดลง 846.37 ล้านบาท หรือ ลดลง 11.74%  โดยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ธุรกิจที่มีการเลิกประกอบธุรกิจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 192 ราย ทุนจดทะเบียน 446.51 ล้านบาท 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 100 ราย ทุนจดทะเบียน 409.83 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 71 ราย ทุนจดทะเบียน 185.90 ล้านบาท

นางอรมน กล่าวเพิ่มว่า ยอดการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ช่วง 2 เดือนแรก มีจำนวน 109 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,542 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 564 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่  1) ญี่ปุ่น 31 ราย คิดเป็นสัดส่วน 28%) เงินลงทุน 15,930 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60%) 2) สิงคโปร์ 18 ราย คิดเป็นสัดส่วน 17%) เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7%) 3) สหรัฐอเมริกา 15 ราย คิดเป็นสัดส่วน 14%) เงินลงทุน 959 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4%) 4) จีน 11 ราย คิดเป็นสัดส่วน 10%) เงินลงทุน 892 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3%) และ 5) ฮ่องกง 7 ราย คิดเป็นสัดส่วน 6%) เงินลงทุน 621 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่น่าสนใจและมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต โดยระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 479 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 555.06 ล้านบาท คิดเป็น 2.77% และ 1.21% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนและมูลค่าการจดทะเบียนจัดตั้ง 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์)

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่า จดทะเบียนธุรกิจเพิ่มขึ้น 116 ราย หรือเพิ่มขึ้น 31.96% ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 137.43 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 32.91% (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 363 ราย ทุนจดทะเบียน 417.63 ล้านบาท) สาเหตุมาจากประกาศของกรมสรรพากรที่กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษที่ต้องจัดทำและนำส่งข้อมูลผู้ประกอบการให้แก่กรมสรรพากร และจากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเข้ามาจดทะเบียนจดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจของไทยเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดรับ เมกา เทรนด์ของรัฐบาล โดยนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างเข้าสู่ธุรกิจเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยังมีพื้นที่อีกมาก โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่องประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า 2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ

Back to top button