“ภูมิธรรม” กำชับ “คทช.” เร่งพัฒนาสาธารณูปโภค-ส่งเสริมอาชีพ จังหวัดเชียงราย

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เพื่อติดตามผลดำเนินงานการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นรวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ คทช.จังหวัดเชียงราย


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (18 มีนาคม 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และกำกับการบริหารราชการสำนักงานคณะดรรมการนฌยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ คทช. จังหวัดเชียงราย ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร

โดยมอบนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดิน รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ในพื้นที่การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ผอ.สคทช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สคทช.  ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในจังหวัดเชียงรายและประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย

นายภูมิธรรมฯ กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร การจัดที่ดินในบางพื้นที่มีความยากลำบาก เนื่องจาก ที่ดินกระจัดกระจายไม่ได้อยู่รวมกันเป็นผืนใหญ่ ซึ่งเป็นความยากในการทำงานของภาครัฐที่จะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เข้าถึงเกษตรกรอย่างทั่วถึง แต่เมื่อ คทช. ได้คัดเลือกพื้นที่และจัดประชาชนให้เข้าทำประโยชน์แล้วก็เป็นหน้าที่ คทช. เช่นกัน ที่ต้องทำให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ สามารถทำมาหากิน, มีไฟฟ้าใช้ มีน้ำสำหรับบริโภค และทำการเกษตรอย่างเพียงพอ

อีกทั้ง คทช. จังหวัดควรดำเนินการสำรวจพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจัดประชาชนเข้าทำประโยชน์และได้รับอนุญาตแล้ว รวมถึงพื้นที่ที่จะดำเนินการในอนาคต หากยังมีพื้นที่ใดที่น้ำไฟยังไม่ทั่วถึงไม่สามารถขยายเขตสายส่ง หรือระบบชลประทานได้ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และหน่วยงานที่จัดหาสาธารณูปโภค ทั้งการ ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องทำงานร่วมมือและสนับสนุนกันทำให้ประชาชนมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพได้

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงการยกระดับรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ คทช. ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันช่วยหาหนทางในการพัฒนาผลผลิตการเกษตรขั้นพื้นฐานให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และต้องเป็นที่ต้องการของตลาดด้วย ในหลักการ “พัฒนาสินค้าขึ้นมาแล้วต้องขายได้”

ด้าน ดร.รวีวรรณฯ ระบุว่า ภาพรวมผลการดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล และ คทช. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย, จังหวัดพะเยา, จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

1.จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 23 พื้นที่ เนื้อที่ 138,010-3-31 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 13 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวน 9,070 ราย 11,872 แปลง รวมทั้ง มีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 6 พื้นที่ 2,193 ราย และมีการสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม มีการบูรณาการร่วมกับสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ คทช. จำนวน 9 สหกรณ์

2.จังหวัดพะเยา มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 12 พื้นที่ เนื้อที่ 45,144 -1-50 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 11 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวน 5,454 ราย 4,054 แปลง รวมทั้ง มีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 10 พื้นที่ 420 ราย และจังหวัดพะเยา ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ (คทช.) จำนวน 1 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรพัฒนาแม่จุน จำกัด

  1. จังหวัดแพร่ มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 42 พื้นที่ เนื้อที่ 27,378-3-89 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 13 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวน 877 ราย 954 แปลง รวมทั้งมีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 3 พื้นที่ 145 ราย และมีการสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม มีการบูรณาการร่วมกับสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ (คทช.) จำนวน 3 สหกรณ์
  2. จังหวัดน่าน มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 35 พื้นที่ เนื้อที่ 272,648-0-72 ไร่ ได้รับหนังสืออนุญาตแล้ว 35 พื้นที่ และราษฎรได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวน 9,214 ราย 11,671 แปลง รวมทั้ง มีการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด 6 ด้าน จำนวน 2,189 ราย และมีการสร้างความเข้มแข็งด้านการรวมกลุ่ม การบูรณาการร่วมกับสหกรณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรกรในพื้นที่ (คทช.) จำนวน 6 สหกรณ์

อีกทั้ง (สคทช.) มีแผนขับเคลื่อนเร่งรัดการจัดที่ดินทำกิน เพื่อนำไปสู่การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ พร้อมทั้งให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐด้านอื่นๆ อาทิ การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน, การส่งเสริมอาชีพและการตลาด, การสร้างมูลค่าในที่ดินของรัฐ และการยกระดับสหกรณ์นำไปสู่การเปลี่ยนผู้ขอรับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ โดยเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง รวมถึงบริหารจัดการที่ดินได้ในอนาคตเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง พัฒนาสังคม เศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืน ต่อไป

Back to top button