SABUY กางแผนปี 67 ชูเรือธง “SABUY Connext-SABUY Speed” ดันรายได้โต 20%

SABUY กางแผนปี 67 ชูเรือธง “SABUY Connext-SABUY Speed” จ่อผุดช็อปเพิ่ม 10 แห่ง พร้อมรุกแคนทีนโรงงาน 300 แห่ง บุกภาคตะวันออก ดันรายได้ปีนี้โต 20% ตามเป้า


นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทฯ จะชะลอการลงทุนใหม่ๆ ในปีนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน โดยประกอบด้วยแผนการดำเนินงาน ดังนี้ 1.มุ่งเน้นการเติบโตจากศักยภาพที่มีอยู่จากเดิม (Extract growth from the existing potentials) 2.บริหารจัดการต้นทุน (Continue to manage cost and increase efficiency) 3.การเสริมสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง (Stability and simplicity) และ 4.กำกับดูแลกิจการ และบริหารความเสี่ยงที่ดี (Enforce robust corporate governance and risk management framwork)

โดยในปีนี้บริษัทฯ จะมุ่งเน้นเป้าหมายของธุรกิจไปที่ SABUY Connext และ SABUY Speed เป็นหลัก ซึ่งเป็น 2 ธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทฯ สำหรับธุรกิจ SABUY Connext บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 2,500 ล้านบาท โดยพยายามเปิดให้ได้ 10 ช็อปภายในครึ่งปีแรก ซึ่งปัจจุบันมีช็อปผ่อนสบายแล้ว 6 ช็อป และล่าสุดได้ทำการเปิดสาขาที่มหาสารคาม โดยมียอดขายที่เติบโตเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท

ในส่วนของ Vending Machines ตั้งเป้าการเติบโตไว้ประมาณ 1,200 ล้านบาท สำหรับธุรกิจ SABUY Speed มีช็อป 22,000 แห่ง ที่เป็นแฟนไชส์ ซึ่งกระจายทั่วทุกอำเภอในประเทศไทย โดยในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของ SABUY Speed ราว 1,500 ล้านบาท และตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ทั้งปี 2567 ไว้ที่ 20% ขณะที่ปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อน

โดยในปี 2567 บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายงานวางระบบแคนทีนในโรงงาน โดยเริ่มดำเนินการแล้ว 3-4 โรงงาน และตั้งเป้าให้ครบ 300 โรงงานภายในปีนี้ โดยจะเน้นไปที่โรงงานใหญ่ ที่มีจำนวนมากกว่า 500 คน เน้นพื้นที่ภาคตะวันออก และ 3 สมุทร ได้แก่ สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีระบบศูนย์อาหารประมาณ 80% ของ Market Share (ในแง่ของพื้นที่ให้บริการ)

ทั้งนี้ ในปี 2568 บริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนในต่างประเทศ เน้นในภูมิภาค อาทิ ลาว, พม่า เป็นต้น สำหรับแนวโน้มในอีก 3-5 ปี มองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์ม จากการที่ผู้คนเริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับการลดการพึ่งพาคน และสร้างความแม่นยำ รวมทั้งทำให้มีการแก้ไขรายการต่างๆ น้อยลง ซึ่งหากทำได้ก็จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มของบริษัทฯ มากยิ่งขึ้น

นายวิรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการลาออกของนายชูเกียรติ รุจนพรพจี เป็นการพิจารณาร่วมกัน และอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท โดยไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านของโครงสร้างธุรกิจ และนายชูเกียรติ ยังคงมีบทบาทกับบริษัทฯ อยู่ ในฐานะกรรมการบริษัท และเจ้าของบริษัท

ส่วนกรณีการถอนหุ้นในบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT นั้น เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังอยู่ในภาพที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามคาด ทางบริษัทฯ จึงลงความเห็นให้ บริษัท เทิร์นคีย์คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC เข้ามาแลกหุ้น (swab) AIT กลับคืน ทำให้ปัจจุบันนายชูเกียรติ ไม่มีสัดส่วนในการถือหุ้นใน AIT อยู่แล้ว

Back to top button