เอกฉันท์! บอร์ด กสทช. ถอด ‘บอลโลก’ พ้นกฎมัสต์แฮฟ เปิดทาง “เอกชน” แข่งขัน-ทำรายได้

บอร์ด กสทช.มติเอกฉันท์! 7 เสียง ถอดลิขสิทธิ์ถ่ายทอด ‘ฟุตบอลโลก’ พ้นกฎมัสต์แฮฟ เปิดทางเอกชนแข่งขัน-ทำรายได้


ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการ กสทช. วันนี้(2 เม.ย.67) ว่า คณะกรรมการ กสทช.ได้พิจารณาลงความเห็น เรื่อง เห็นควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือประกาศมัสต์แฮฟ (Must Have) โดยคณะกรรมการได้ลงมติเอกฉันท์ 7 เสียง ให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากประกาศมัสต์แฮฟ ที่กำหนดให้ถ่ายทอดรายการกีฬา 7 ประเภทให้ประชาชนรับชมฟรีทั่วประเทศ

“สำหรับกฎมัสต์แฮฟจะคงไว้ซึ่งทุกอย่าง ยกเว้นฟุตบอลโลก สาเหตุที่ตัดฟุตบอลโลกออก เพราะมีมูลค่าและเข้าตลาดได้ชัดเจน และเป็นประเภทที่มีอุปสรรคปัญหามาโดยตลอด หลังจากลงคะแนนเสียงที่ 7 เสียง จากนี่จะมีผลทันที ระหว่างนี้อยู่ขั้นเตรียมเอกสารเพื่อรอการประกาศชัดเจน” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณกล่าว

ขณะที่กฎมัสต์แครี่ โดยมีการเสนอว่าเวลามีกีฬาบางประเภท เช่น โอลิมปิกเกมส์ ก็มีการเสนอความคิดเห็นว่าจะฉายเฉพาะแต่กีฬาที่คนไทยได้เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเฉพาะรอบชิงชนะเลิศในกีฬาทุกชนิดสามารถทำให้ได้ดูฟรีทั้งหมด ขณะเดียวกัน กีฬาที่คนไทยไม่ได้เข้าร่วมแข่งขัน เช่น กีฬาบาสเกตบอล แข่งขันระหว่างประเทศสหรัฐและคิวบา ไทยไม่ได้ถ่ายทอด เพราะไม่ได้มีคนไทยแข่งขัน แต่อาจมีคุณค่าทางธุรกิจ เอกชนอื่นๆ ต้องการถ่ายทอดอาจนำไปถ่ายทอดได้

ด้านนางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 (Must Have) ผ่านมาถึงวันนี้ก็ 10 ปีแล้ว ดังนั้น บริบทการถ่ายทอดก็เปลี่ยนแปลงไป และจนถึงวันนี้ก็ถือว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเข้าสู่กลไกการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แล้ว

ทั้งนี้หรับกฏมัสต์แฮฟ (Must Have) หรือประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 กำหนดให้รายการถ่ายทอดสดกีฬา 7 รายการ ประกอบด้วย ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และ ฟุตบอลโลก นอกจากนี้ มีกฎควบคู่กันคือมัสต์แครี่ (Must Carry) ที่ผู้ถือลิขสิทธิ์จะต้องให้ผู้ชมได้รับชมผ่านทางทุกแพลตฟอร์ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลพวงดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีการอุดหนุนเงินฟุตบอลโลกเป็นดราม่ายืดยื้อในบอร์ด กสทช.ถึงปัจจุบัน จากกรณีที่เมื่อการประชุม กสทช. วันที่ 23 มกราคม 2566 กรรมการ กสทช.ทั้ง 4 คน ลงมติเสียงข้างมากปลด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จากรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติเงินเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ที่นายไตรรัตน์ถูกตั้งกรรมการสอบ พร้อมมีมติให้ตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ เป็น รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน แต่จนทำให้เป็นคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นในบอร์ด กสทช.

โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษจิกายน 2565 นายไตรรัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์ 2022 ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้กรณีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อีกทั้งเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาส ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และ 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่ง กสทช.สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ กทปส. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have)

Back to top button