ย้อนรอยความขัดแย้ง “บอร์ดกสทช.” แบ่งฝ่าย “โหวตสวนทาง” กันเละ

ย้อนรอยความขัดแย้งบอร์ดกสทช.ที่ร้าวลึก เปิดปูมเบื้องวาระสำคัญ พบแบ่งฝ่ายโหวตสวนทางกัน เป็นก๊วนทั้ง “หมอสรณ” และ “พิรงรอง”


คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ถือเป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่มีความสำคัญในกิจการที่มีความเกี่ยวของกับความมั่นคงของประเทศ แต่หลังจากที่ บอร์ด กสทช.ชุดปัจจุบัน ได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน กสทช., พล.อ.ท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช ด้านกิจการกระจายเสียง, น.ส.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ นายศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ , พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช ด้านกฎหมาย และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช ด้านโทรคมนาคม ดูเหมือนจะเกิดปัญหาเกิดมากมายภายในหน่วยงานกำกับแห่งนี้

เห็นได้จากภาพการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพของบอร์ด กสทช.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน ทั้งปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันที่สะท้อนจากการลงมติของ บอร์ด กสทช. สำคัญๆอย่างน้อย 5 เรื่อง จนเห็นภาพการแบ่งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ที่มักลงมติสวนทางกันทุกเรื่อง  คือ กลุ่มของประธาน กสทช. 3  คน ประกอบด้วย ประธาน นพ.สรณ, นายต่อพงศ์ และ พล.ต.อ ณัฐธร ในขณะที่ที่อีกฝ่ายคือ กสทช. 4 คน ได้แก่ น.ส.พิรงรอง, นายศุภัช, พล.อ.ท ธนพันธุ์ และนายสมภพ

จากภาพการแบ่งฝ่ายที่ชัดเจนในบอร์ด กสทช. ออกเป็น 4 ต่อ 3 ทำให้ทุกครั้งที่มีการประชุมและลงมติในวาระสำคัญ กลุ่มของ นพ.สรณ ประธาน กสทช. จะพ่ายแพ้ต่อเสียงส่วนใหญ่เสมอ และจะให้ประธาน “เบิ้ลโหวต” เหมือนตอนลงมติให้ไฟเขียวทรู ควบรวมดีแทค ก็ไม่ได้ เพราะอย่างมากก็เสมอกัน 4 ต่อ 4 เสียง

ตัวอย่าง มติ กสทช. สำคัญๆ ที่บอร์ด กสทช. 2 ฝ่าย โหวตสวนกัน ได้แก่ การที่ทรูควบรวมดีแทค ซึ่งเรื่อง ทรูควบรวมกิจการกับดีแทคเป็นงานแรกของบอร์ด กสทช.ชุดนี้ หลังเข้ารับตำแหน่งไม่กี่วัน ซึ่งตอนนั้นบอร์ด กสทช. ยังมีเพียง 5 คน และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการถกเถียงกันถึงประเด็นที่ว่า กสทช. มีอำนาจอนุมัติ ให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบในการควบรวมของทรูกับดีแทคหรือไม่ ซึ่งนพ. สรณ และ นายต่อพงศ์ เห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ  มีหน้าที่แค่รับทราบ ขณะที่ น.ส.พิรงรอง นายศุภัช และพล.อ.ท ธนพันธุ์ เห็นว่า กสทช. มีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ไม่ใช่รับทราบเฉยๆ

ประกอบกับฝ่ายสำนักงาน กสทช. โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการ เลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีหน้าที่จัดทำวาระและบันทึกรายงานการประชุม  มีท่าทีชัดเจนว่า กสทช. มีหน้าที่แค่รับทราบเท่านั้น เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวต่างๆออกมากมาย และการตั้งคำถามจากผู้บริโภค เห็นได้จากการจัดทำรายงานการควบรวม การสรุปมติการประชุม ที่ถูกทักท้วงว่า ผิดจากมติที่ประชุม การเร่งรัดให้บอร์ด กสทช. รีบมีมติ “รับทราบ” การควบรวม

ซึ่งความเห็นที่ไม่ตรงกันทำให้ เรื่อง การควบรวมทรู ดีแทค ยืดเยื้อเนิ่นนานไปถึง 6 เดือน ในที่สุดการประชุม บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ก็มีการลงมติในเรื่องนี้ โดยเห็นว่า การควบรวมทรู ดีแทค ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน  มีมติรับทราบ

น.ส.พิรงรอง และ นายศุภัช เห็นว่า เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน อาจเข้าข่ายผูกขาด หรือทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ ส่วน พล.อ.ท ธนพันธุ์ งดออกเสียง ทำให้เมื่อการโหวตออกมาเสมอกัน 2 ต่อ 2 นพ.สรณ อ้างความเป็นประธาน ใช้สิทธิออกเสียงครั้งที่ 2 ชี้ขาด ทำให้ทรูบรรลุเป้าหมายควบรวมดีแทค

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุมบอร์ด กสทช. นัดพิเศษ มีมติยกเลิก โครงการโทรเวชกรรมถ้วนหน้า หรือ เทเลเฮลท์ ที่ของบประมาณ Universal Service Obligation (USO) มูลค่า 3,800 ล้านบาท ด้วยคะแนน 4 ต่อ 3 ซึ่ง 4 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยคือ น.ส.พิรงรอง, นายศุภัช, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ และนายสมภพ ขณะที่ 3 เสียงที่เห็นด้วยคือ นพ.สรณ, นายต่อพงศ์ และพล.ต.อ. ณัฐธร

สำหรับโครงการเทเลเฮลท์ มีลักษณะแบบเดียวกับแพทย์ทางไกล คือ แพทย์ให้คำแนะนำ การรักษาคนไข้ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโครงการที่ นพ. สรณ เป็นคนผลักดันเอง และมีกสทช. 4 คนไม่เห็นด้วยเพราะ เป็นโครงการที่ลงทุนในเรื่องไอที เป็นส่วนใหญ่ มีเรื่องโทรคมนาคม เพียงเล็กน้อย ขัดกับวัตถุประสงค์ USO ที่มีเป้าหมายเรื่อง บริการโทรคมนาคมควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงทุนในเรื่องไอทีมากกว่า จนถูกตีตกไปในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีกรณีการประชุม บอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566  ได้ลงมติรับ 4 ต่อ 2 ต่อ 1 ให้ นายไตรรัตน์ วิริยะสิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย จากการที่ กสทช. อนุมัติเงิน 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปซื้อลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2022โดย กกท. ให้สิทธิ์ กลุ่มทรูที่สนับสนุนเงิน 300 ล้านบาท  ถ่ายทอดสดผ่าน แพลตฟอร์ม ทรู วิชั่นส์ ทำให้ ทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ “จอดำ” ผิด กฎ Must Carry ทั้งๆที่ กสทช. ให้เงินไป 600 ล้านบาท สมาคมโทรทัศน์ดิจิทัลจึงเคลื่อนไหวคัดค้าน จนทำให้ทรูต้องคืนโควต้าถ่ายทอดสดรอบสุดท้าย 16 นัด ให้ กกท.นำไปจัดสรรให้ทีวีดิจิทัล

ทั้งนี้บอร์ด กสทช.ไม่รู้มาก่อนว่า กกท.ไปทำสัญญากับ ทรูวิชั่นส์ และมีมติให้เรียกคืนเงิน 600 ล้านบาท จาก กกท. โดยบอร์ด กสทช.ตั้งกรรมการสอบ สรุปว่า นายไตรรัตน์รู้ว่ามีปัญหา แต่ยังไปลงนามให้เงิน กกท. ไม่รอให้อัยการสูงสุดตีความ และไม่รายงานให้บอร์ดรู้เรื่องนี้เลย

ซึ่ง กสทช. เสียงข้างมาก 4 คนที่ลงมติให้นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที คือ น.ส.พิรงรอง, นายศุภัช, พล.อ.ท ธนพันธุ์  และนายสมภพ  โดยให้ ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ทำหน้าที่รักษาการ เลขาธิการแทน

กสทช. 2 คนที่เห็นว่าให้ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าผลสอบวินัยจะออกมา 2 คนคือ นายต่อพงศ์ และ พล.ต.อ.ณัฐธร ขณะที่ ประธาน กสทช. นพ. สรณ งดออกเสียง และไม่ยอมเซ็นคำสั่งปลดนายไตรรัตน์ โดยอ้างว่า การแต่งตั้งและถอดถอน เลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของประธาน กสทช.

อย่างไรก็ดี ตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. ว่างมา 3 ปีแล้ว หลังนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออกไป  นายไตรรัตน์ รองเลขาธิการ ทำหน้าที่ รักษาการเลขาธิการ มาจนถึงปัจจุบัน แม้บอร์ด กสทช. จะลงมติให้หยุดทำหน้าที่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 กรณีให้เงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 600 ล้าน โดยมิชอบ แต่ ประธาน กสทช. นพ สรณ ไม่ยอมลงนามให้ไตรรัตน์หยุดทำหน้าที่

กระทั่งต่อมาในวันที่ 17 มกราคม 2567 บอร์ด กสทช. ประชุมวาระพิเศษ เพื่อเลือกเลขาธิการ กสทช. นพ.สรณ  ประธาน กสทช. ได้เสนอชื่อไตรรัตน์ เป็นเลขาฯ เพียงคนเดียว และผลปรากฏว่า กสทช 4 คน คือ น.ส.พิรงรอง,นายศุภัช,ธนพันธุ์, และนายสมภพ ลงมติคัดค้านกระบวนการสรรหาว่า ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส เพราะ นพ. สรณ ใช้เสนอชื่อ นายไตรรัตน์ เป็นเลขาฯเพียงคนเดียว ไม่พิจารณาบุคคลอื่น และไม่ยอมให้ กสทช. คนอื่น มีส่วนในการสรรหาด้วย อ้างว่า เป็นอำนาจของประธานคนเดียว ซึ่งกสทช. ที่เห็นว่า กระบวนการสรรหาถูกต้อง คือ นพ.สรณ, นายต่อพงศ์ และ พ.ต.อ ณัฐธร ทำให้ การสรรหาเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ เลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

Back to top button