KBANK มองกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 36.50-37.00 บ. จับตาแบงก์ชาติญี่ปุ่น-ถ้อยแถลงเฟด

KBANK มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ฯ จับตาแบงก์ชาติญี่ปุ่นแทรกแซงเงินเยน-ประชุมแบงก์ชาติอังกฤษและออสเตรเลีย รวมถึงถ้อยแถลงเฟด กระทบเงินทุนต่างชาติ-ค่าเงินเอชีย


ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (6-10 พ.ค.67) ที่ระดับ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนของทางการญี่ปุ่น, ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตัวเลขการส่งออกเม.ย. ของจีน รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ

โดยในรอบสัปดาห์นี้ (29 เม.ย.-3 พ.ค.67) เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 37.00 บาท/ดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟด และสัญญาณการเข้าแทรกแซงสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนจากทางการญี่ปุ่น โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดยเงินเยนซึ่งอ่อนค่าทะลุแนว 160.00 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.17 เยน/ดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องหลังการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รอบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาตามทิศทางเงินเยนที่พลิกแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ขณะที่ตลาดมีความกังวลต่อสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินเยน หลังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเปิดเผยออกมาว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดในสัปดาห์นี้เพื่อพยุงค่าเงินเยน (ด้วยการเข้าซื้อเงินเยนและขายเงินดอลลาร์ฯ) หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน หลังผลการประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.67) ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ตามเดิม แต่ก็มีการประกาศรายละเอียดของกระบวนการชะลอการลดงบดุล ซึ่งปัจจัยนี้กดดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ให้ปรับตัวลง ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานเฟด ยังคงย้ำถึงการรอจังหวะลดดอกเบี้ยเมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับลงไปอยู่ในระดับที่เฟดสบายใจ และปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นท่าทีที่แข็งกร้าว (Hawkish tone) น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.78 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.96 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 เม.ย.67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค.67 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,170 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 7,145 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 8,395 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,250 ล้านบาท)

Back to top button