“ประชาธิปัตย์” ไม่เห็นด้วยแก้กม.ลดอิสระ “ธปท.” หวั่นประเทศเสียหาย

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ค้านแก้กฎหมายลดความอิสระของ “ธปท.” ชี้ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ลั่นหากคิดว่าการแสดงความเห็นของผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรงหรือทุจริต ก็ขอท้าให้ปลดออก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันนี้ (6 พ.ค.67)  นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า รัฐบาลมีแนวคิดแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เพื่อลดความอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และตนเชื่อว่าจากการส่งสัญญาณผ่าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวถึง ธปท. ว่าเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผู้ใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องหาวิธีการเพื่อตอบสนองความต้องการนี้อย่างแน่นอน

ขณะที่การแก้ไขกฎหมายย่อมเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งหากมีการยื่นแก้ไขกฎหมายนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะการลดความอิสระของ ธปท. จะส่งผลเสียหายต่อประเทศ ส่วนการปรับปรุง พ.ร.บ.ธปท. ล่าสุด เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วที่มีความครอบคลุมหลายส่วน ทั้งเรื่องความอิสระและให้มีความโปร่งใส

อีกทั้งยังสร้างการถ่วงดุลฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้ใช้เงินให้อยู่ในหลักการที่ถูกต้อง และเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในสถานะทางการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นหลักสากลที่ทั่วโลก ได้กำหนดให้อำนาจของธนาคารกลางให้มีความอิสระ และแยกการใช้อำนาจออกจากฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน

นายราเมศ กล่าวอีกว่า รัฐบาลอึดอัดใจ ไม่สบายใจต่อท่าทีของผู้ว่าการ ธปท. ที่ท้วงติงหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลพยายามผลักดัน แต่ด้วยกฎหมายมีความเข้มแข็งในเรื่องการปลดผู้ว่าการ ธปท. รัฐบาลจึงไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะกฎหมายระบุชัดว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามแล้ว ผู้ว่าการจะพ้นจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อเสียชีวิต ลาออก หรือขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม หรือคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรี และคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ ทั้งนี้ มติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

“การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของผู้ว่าการ ธปท. เป็นไปด้วยความสุจริตใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง และเพื่อให้เห็นความคุ้มค่าของงบประมาณแผ่นดิน แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของผู้ว่าการ ธปท. เป็นความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือถึงขั้นทุจริตต่อหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ ขอท้าให้รัฐบาลรีบปลดได้เลย” นายราเมศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ระบุถึงขอบเขตการทำงาน ธปท.ภายใต้ กฎหมาย ธปท.สำหรับพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตการทำงาน และโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลของธนาคารกลาง เพื่อให้ระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และมีกระบวนการตัดสินใจด้วยความโปร่งใส รอบคอบ สรุปสาระสำคัญและคำอธิบาย พ.ร.บ.ธปท. ดังนี้

1.ความมุ่งหมายของกฎหมาย กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของ ประเทศดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบ การชำระเงินของประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงินให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

2.สรุปสาระสำคัญของกฎหมาย

2.1 กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน (มาตรา 7) และอำนาจในการกระทำกิจการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ (มาตรา 8) และกำหนดข้อห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกระทำการในเรื่องต่าง ๆ (มาตรา 9)

2.2 กำหนดกระบวนการได้มา องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การประชุม และองค์ประชุม วาระในการดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (หมวด 4) ได้แก่ คณะกรรมการธนาคาร แห่งประเทศไทย (มาตรา 24 ถึงมาตรา 28/5) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (มาตรา 28/6 ถึงมาตรา 28/8) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (มาตรา 28/9 ถึงมาตรา 28/10) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (มาตรา 28/11 ถึงมาตรา 28/12)

2.3 กำหนดกระบวนการคัดเลือกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ กิจการของ ธปท. รวมทั้งข้อห้ามมิให้ผู้ว่าการซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน ใดภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง (หมวด 5)

2.4 กำหนดสถานะ วัตถุประสงค์ ที่มาของแหล่งเงิน และอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน องค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมและองค์ประชุม อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการกองทุน (หมวด 5 ทวิ)

2.5 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านต่าง ๆ ได้แก่ การออกธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร การดำเนินนโยบายการเงิน 1) คำอธิบายนี้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น ส่วนการจะปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่าง ถูกต้องนั้น ประชาชนจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ

2) การบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียน หลักทรัพย์ของรัฐบาล การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน การรักษาเสถียรภาพของระบบ เศรษฐกิจและระบบการเงิน การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน (หมวด 6)

2.6 กำหนดข้อห้ามมิให้ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างกระทำการอันใดที่ขัดหรือ แย้งระหว่างผลประโยชน์ของตนและผลประโยชน์ของ ธปท. หรือขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งให้พนักงานหรือลูกจ้างเปิดเผยข้อมูลส่วนได้ส่วนเสียของตนในการปฏิบัติหน้าที่ และห้ามพนักงานหรือลูกจ้างที่มีส่วนได้ส่วนเสียพิจารณาหรือเข้าร่วมการประชุมในเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย และห้ามพนักงานและลูกจ้างดำรงตำแหน่งรับจ้างหรือทำงานในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (มาตรา 46 ถึงมาตรา 48)

2.7 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหารือเป็นครั้งคราวร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือระบบสถาบันการเงิน

โดยกรณีมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานข้อเท็จจริง ประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานข้อเท็จจริง วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงก็ได้

รวมถึงให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรี โดยเร็วในกรณีฐานะสุทธิของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (หมวด 8)

2.8 กำหนดให้การบัญชีของธนาคารแห่งประเทศจัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เว้นแต่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเฉพาะเรื่องเป็นอย่างอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของธนาคารกลางอื่นได้ (มาตรา 54) และให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแลการตรวจสอบกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย (มาตรา 55)

2.9 กำหนดโทษทางอาญาสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย ฉบับนี้กำหนด (มาตรา 62) และสำหรับผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด (มาตรา 64 และมาตรา 66 ถึงมาตรา 75) และกำหนดโทษปรับทางพินัยสำหรับบุคคลและสถาบันการเงินที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด (มาตรา 63 และมาตรา 65)

Back to top button