เปิดโผ 12 หุ้นตัวท็อป รับส่งออกไทย เม.ย. ขยายตัว 7% ชู “กลุ่มอาหารสัตว์” ดาวเด่น

“บล.กรุงศรี” คัด 12 หุ้นเด่น รับประโยชน์ส่งออกไทยเดือน เม.ย. ขยายตัว 6.8% ชูกลุ่มยางพารา-ข้าว-อาหารสัตว์-ไก่แปรรูปรับอานิสงส์เต็ม


บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์(24 พ.ค.67) ว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยยอดส่งออกเดือน เม.ย.67 ขยายตัว 6.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน  ดีกว่าตลาดคาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่พลิกจากภาพปรับลดลงจาก prev. ที่ 10.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนนำเข้าขยายตัว 8.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่าตลาดคาดว่าจะขยายตัว 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดุลการค้าเป็นภาพขาดดุลเพิ่มขึ้นสู่ 1.64 พันล้านเหรียญฯ จาก prev. ขาดดุล 1.16 พันล้านเหรียญฯ

ทั้งนี้มีกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากตัวเลขยอดส่งออกเดือนเม.ย.67 ขยายตัว 6.8% มีสินค้าส่งออกหลายกลุ่มในเดือน เม.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับเพิ่มโดดเด่นในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ได้แก่

-กลุ่มส่งออกข้าวเดือนเม.ย.เติบโต 91.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4 เดือนแรกปี 67 โต 53.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน) และยางพารา เดือนเม.ย.67 โต 36.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, และ 4 เดือนแรกปี 67 โต 27.3%เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน) เป็นบวกต่อกลุ่มอิงกำลังซื้อฐานราก และหุ้นเชื่อมโยงกับยาง อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA

-กลุ่มส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและสำเร็จรูปเดือนเม.ย.67 โต 14.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ4 เดือนแรกปี 67 โต 6.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) เป็นบวกต่อ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU

-กลุ่มส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเดือนเม.ย.67 โต 52.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4 เดือนแรกปี 67 โต27% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกต่อ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ,บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC

-กลุ่มส่งออกไก่แปรรูปเดือนเม.ย.67 โต 17.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4 เดือนแรกปี 67 โต 5.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกต่อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT

-กลุ่มส่งออกเครื่องดื่มเดือนเม.ย.67 โต 10.50% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4 เดือนแรกปี 67 โต 7.1% เป็นบวกต่อ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE, บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP

-กลุ่มส่งออกสิ่งปรุงรสอาหารเดือนเม.ย.67 โต 23.20% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4 เดือนแรกปี 67 โต 15.60% เป็นบวกต่อ บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO

ส่วนประเด็นน่าสนใจอื่นๆ คือ ตลาดที่ขยายตัวเร่งขึ้น คือ สหรัฐฯ และยุโรป ส่วนจีน ญี่ปุ่นยังหดตัวลง ทำให้ระยะถัดไป เราประเมินยังคาดหวัง Upside การส่งออกจากการฟื้นตัวจีนที่เริ่มชัดขึ้นได้ ขณะที่ยอดนำเข้าที่เร่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก สินค้าทุน (24.8% ของยอดนำเข้า) ขยายตัว 17.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 16% ยังสะท้อนภาพโมเมนตัมบวกเอกชนเร่งลงทุนรับเศรษฐกิจภายในฟื้นตัว

ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเม.ย.67 พบว่า มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 23,278 ล้านเหรียญสรอ. พลิกกลับมาขยายตัว 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,920 ล้านเหรียญสรอ. ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,641 ล้านเหรียญสรอ.

โดยการส่งออกไทยพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนเม.ย.นี้ สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ขณะที่ปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคา ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

ส่วนภาวะการค้าระหว่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.67) การส่งออก มีมูลค่ารวม 94,273 ล้านเหรียญสรอ.ขยายตัว 1.4% การนำเข้า มีมูลค่ารวม 100,390 ล้านเหรียญสรอ. ขยายตัว 4.9% ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 6,116 ล้านเหรียญสรอ.

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2567 ไว้ที่ 1-2%

“เดือนเม.ย.นี้ มีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ ภาวะเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าคลี่คลายลงมาก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตของโลกยังขยายตัวจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญ ได้รับอานิสงส์จากราคาตลาดโลกที่สูงขึ้น” นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่กดดันการส่งออกของไทย ได้แก่ 1.สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งของไทย 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่น 3. สถานการณ์ความขัดแย้ง และการต่อสู้ในเมียวดี ประเทศเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในเดือนเม.ย.นี้ หากแยกประเภทการส่งออกตามกลุ่มสินค้า จะพบว่า สินค้าเกษตร หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,014 ล้านเหรียญสรอ. ลดลง 3.8% อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น ข้าว, ยางพารา และไก่แปรรูป

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,932 ล้านเหรียญสรอ. ขยายตัว 12.7% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม พลิกกลับมาขยายตัว โดยมีมูลค่าการส่งออก 17,464 ล้านเหรียญสรอ. ขยาตัว 9.2% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้า และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ

นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในเดือนเม.ย.นี้ ตลาดส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวในเดือนก่อน สอดคล้องกับสัญญาณการขยายตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และจีนยังคงหดตัว โดยสาเหตุที่การส่งออกไปตลาดจีนหดตัวต่อเนื่อง เป็นผลกระทบจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นหลัก แต่แนวโน้มมีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค. เนื่องจากจีนจะมีการนำเข้าผลไม้จากไทยมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะทุเรียน

สำหรับตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 แคนาดา ขยายตัว 48.5% อันดับ 2 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 41.9% อันดับ 3 แอฟริกา ขยายตัว 32.1% อันดับ 4 สหรัฐฯ ขยายตัว 26.1% อันดับ 5 ฮ่องกง ขยายตัว 21.2% อันดับ 6 สหภาพยุโรป ขยายตัว 20.2% อันดับ 7 ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 18.6% อันดับ 8 ตะวันออกกลาง 17.8% อันดับ 9 เอเชียใต้ ขยายตัว 13% และอันดับ 10 กลุ่ม CIS ขยายตัว 8.6%

นอกจากนี้ประเมินการส่งออกของไทยในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ว่า หากไม่มีสถานการณ์ที่ยากจะคาดเดาเข้ามากระทบ ก็คาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ราว 0.8-1%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คงเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 1-2% โดยคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้ จะยังเติบโตได้ดีจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มบรรเทาลง ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ

ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวน สร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตร และความต้องการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางสร้างโอกาส และลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เชื่อว่า การส่งออกในไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ 1% เป็นอย่างน้อย เนื่องจากยังมีแรงขับเคลื่อนได้จากทั้งสินค้าเกษตร เช่น ข้าว, ยางพารา และผลไม้ ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมูลค่าการส่งออกในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 2 ก็ถือว่าทำได้ดีมากที่ระดับ 23,000 ล้านเหรียญสรอ.

“ถ้าจะให้การส่งออกไตรมาส 2 ปีนี้ โตได้ราว 1% นั้น การส่งออกในอีก 2 เดือนที่เหลือของไตรมาส 2 (พ.ค.-มิ.ย.) ก็จะต้องทำให้ได้เดือนละประมาณ 24,000 ล้านเหรียญสรอ. ซึ่งมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นไปได้” ประธาน สรท. กล่าว

พร้อมระบุว่า จากปัญหาความตึงเครียดในทะเลแดงที่ยังไม่ทุเลาลงนั้น ทำให้หลายสายเดินเรือ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าไปยังยุโรป โดยต้องไปอ้อมที่แหลมกู้ดโฮป ส่งผลให้ค่าระวางปรับสูงขึ้นเหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการเดินเรือระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาคเอกชนต้องเร่งดำเนินการร่วมกับภาครัฐ คือ 1.หาแนวทางในการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการส่งออก 2.เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เนื่องจากตลาดหลักยังหดตัว เช่น สหรัฐ และจีน 3.เร่งโปรโมทสินค้าในกลุ่มศักยภาพ รวมทั้งการใช้ Soft Power เพื่อช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับกว้างขวางมากขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะอาหาร และสิ่งทอ

Back to top button