ธปท. ชี้แบงก์ยังแกร่ง แม้สินเชื่อหด-NPL เพิ่ม 2.90% ช่วงไตรมาส 1/68

ธปท.โชว์ธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาสที่ 1/68 ผลดำเนินงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายปี 2567 จับตามองหนี้ครัวเรือนและธุรกิจเสี่ยงกระทบฐานะการเงิน ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในภาพรวมหดตัว 1.3% พร้อมจับตา NPL ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9%


นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 1 ปี 2568 หดตัวอยู่ที่ 1.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายตัว ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อ NPL ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 548.1 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.90% โดยหลักจากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ สัดส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเช่าซื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลของฐานสินเชื่อที่ลดลง สำหรับสินเชื่อ Stage 2 ปรับลดลง โดยหลักจากการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้สัดส่วน stage 2 ทรงตัวอยู่ที่ 6.97%

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริหารจัดการคุณภาพหนี้  สำหรับผลการดำเนินงานปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง (ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงซึ่งเป็นปัจจัยฤดูกาลในไตรมาสก่อนและค่าใช้จ่ายด้าน IT) และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (เงินลงทุนและการวัดมูลค่าตราสารทางการเงิน) ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทั้งยังต้องติดตามภาวะการเงินที่ยังตึงตัวและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจและครัวเรือนที่อาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินจากผลกระทบของนโยบายการค้าโลก ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการคุณสู้เราช่วย

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง  ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ลดลงตามการกู้ยืมผ่านตลาดตราสารหนี้เป็นสำคัญ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แต่ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลง

Back to top button