THCOM จับมือพันธมิตร “CPAC-ม.เกษตรศาสตร์” ประเมินกักเก็บคาร์บอนป่าชุมชน “ลำปาง”

THCOM จับมือ SCG CPAC และ ม.เกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าชุมชน จ.ลำปาง ด้วยแพลตฟอร์ม CarbonWatch พร้อมขยายความสำเร็จสู่ผืนป่าในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ


บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ผู้ให้บริการดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำแห่งเอเชีย โดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (SCG CPAC) โดยมี นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance & Business Stakeholder Engagement และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดี ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ ภายใต้โครงการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนภาคกลางและภาคเหนือ

โดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ผ่านแพลตฟอร์ม CarbonWatch เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิตในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เป็นรายแรกของประเทศไทย

สำหรับบทบาทและวัตถุประสงค์ในการร่วมมือกันในครั้งนี้ SCG CPAC ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน และมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 (Net Zero 2050) ซึ่งมุ่งเน้นการปลูกและดูแลรักษาป่าชุมชน จึงได้ผนึกกำลังกับ ไทยคม ผู้นำบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม CarbonWatch มาประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ในจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ โดยใช้องค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประเมินโครงการนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  อันจะนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ป่าชุมชนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM กล่าวว่า ไทยคมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ SCG CPAC และ ม.เกษตรศาสตร์ ในการนำแพลตฟอร์ม CarbonWatch มาประเมินการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม นับว่าเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเราที่ต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศได้สำเร็จ  และเราจะนำแพลตฟอร์มนี้ ขยายผลไปสู่การพัฒนาประเทศชาติกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป

นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environmental Social Governance & Business Stakeholder Engagement SCG CPAC กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยยึดมั่นในความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ผ่านการปลูกและดูแลรักษาป่าชุมชน และเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของโครงการของเรา บริษัทจึงได้ร่วมมือกับไทยคม นำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง ที่ซึ่ง SCG CPAC สานสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่มาอย่างเข้มแข็งยาวนาน ด้วยการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการประเมินข้อมูล อันจะนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่ป่าอื่น ๆ ในอนาคต

ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยมาอย่างยาวนานเกือบ 100 ปี โดยมีองค์ความรู้ ข้อมูลวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมและลึกซึ้งในทุกมิติของทรัพยากรป่าไม้ และมีภารกิจที่สำคัญคือการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพด้านวิชาการป่าไม้ การวิจัย และ การบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในวันนี้และอนาคตก็สอดคล้องตามพันธกิจ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีความยินดีและพร้อมอย่างยิ่งในการสนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ SCG CPAC และไทยคม เพื่อใช้ในการประเมินคาร์บอนเครดิตด้วยเทคโนโลยีอวกาศให้มีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ได้

Back to top button