จับตา! ดีลภาษีไทย-สหรัฐโค้งสุดท้าย ก่อนเส้นตาย 9 ก.ค. โบรกชี้หุ้นส่งออกลุ้นหนัก

“บล.ดาโอ” แนะจับตาดีลการค้าไทย-สหรัฐโค้งสุดท้าย! พร้อมประเมินภาษีนำเข้าสหรัฐโจทย์ใหญ่หุ้นส่งออก “อาหารสัตว์เลี้ยง–น้ำมะพร้าว–ยางรถยนต์” เสี่ยงกระทบหากดีลสะดุด หรือถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงเกินกว่า 10% ที่รัฐบาลไทยคาดไว้ก่อนเส้นตาย 9 ก.ค.นี้  


สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยการเมืองภายในประเทศกดดัน รวมทั้งประเด็นที่นักลงทุนไม่อาจมองข้ามคือ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างไทย–สหรัฐฯ ซึ่งเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ต่อแนวโน้มการส่งออกไทย และกระทบต่อหุ้นรายกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากตลาดสหรัฐฯในสัดส่วนสูง

โดยมีรายงานว่ารัฐบาลไทยเตรียมเดินทางไปเจรจารอบสุดท้ายกับสหรัฐฯภายในสัปดาห์นี้ โดยจะพบหารือกับนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายคือพยายามต่อรองให้อัตราภาษีอยู่ในระดับไม่เกิน 10% จากที่สหรัฐฯเคยประกาศไว้ว่าหากไม่มีข้อตกลงจะเรียกเก็บเต็มที่ 36% มีผลหลังเส้นตาย 9 ก.ค.2568

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) วิเคราะห์ในบทวิเคราะห์ว่า การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ เริ่มมีความคืบหน้า โดยไทย-สหรัฐฯ เริ่มเจรจาภาษีนำเข้าตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. และไทยได้ส่งข้อเสนอให้สหรัฐฯพิจารณาตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.โดยคณะทำงานไทยคาดหวังว่าอัตราภาษีที่ไม่เกิน 10% ยังมีความเป็นไปได้ เทียบกับที่สหรัฐเคยประกาศไว้ที่ 36% ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2568 จากนั้นได้ชะลอออกไปเป็นเวลา 90 วัน แต่ยังเก็บภาษีขั้นต่ำทุกประเทศ 10% และในระหว่างนี้ได้เปิดโอกาสให้คู่ค้าแต่ละประเทศยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ โดยมีเวลาก่อนที่จะถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค.2568 หากเจรจาไม่ สำเร็จก็จะถูกเรียกเก็บภาษีตามที่ได้เคยประกาศไว้ โดยประเทศที่โดนภาษีสูงสุดคือ กัมพูชา 49% รองลงมาคือ สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียน มา 44% และไทย 36%

ขณะที่จีนโดน 34% อินเดีย 26% เกาหลีใต้ 25%ญี่ปุ่น 24% สำหรับประเทศที่มีความคืบหน้าในการเจรจามากสุดคือ จีน ที่ทั้งสอง ประเทศเห็นด้วยกับ ภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ จะลดลงเหลือ 30% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขครั้งแรกที่ 34% เพียงเล็กน้อย ทำให้มองว่าอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐจากประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงเกินกว่า 10% ที่รัฐบาลไทยคาดไว้ กลุ่มส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ยังมีความเสี่ยงมากสุด เนื่องจากมีรายได้สหรัฐสูงถึง 50-60%

โดยกลุ่มส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง Pet Food (Neutral): ปัจจุบันบริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 60% และบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 50%

ขณะที่หากอิงอัตราภาษีนำเข้าก่อนการประกาศมาตรการใน เดือน เม.ย.2568 เดิมสหรัฐไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เลี้ยงจากไทย (ปัจจุบัน baseline tariffs อยู่ที่ 10%) ทั้งนี้ประเมิน sensitivity กรณีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ที่ 18% (ตามตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เป็นข้อสมมติฐานในการจำลองผลกระทบทางเศรษฐกิจ) จะกระทบกำไร AAI ปี 2569 (เต็มปี) ราว-10% และ ITC -7% อิงสมมติฐานว่ายอดขายจากสหรัฐจะลดลง 18% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขอัตราภาษีที่คาดว่าจะถูกเรียกเก็บ

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU (แนะนำถือราคาเป้า 10.50 บาท): มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 40% ขณะที่หากอิงอัตราภาษีนนำเข้าก่อนการประกาศมาตรการในเดือน เม.ย. 2568 เดิมสหรัฐมีการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องจากไทยราว 9-10% เราประเมิน sensitivity กรณีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ที่ 18% จะกระทบกำไร TU ปี 2569 (เต็มปี) ราว-3-5%

-กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว ได้แก่ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS (แนะนำถือราคาเป้า 3.50 บาท),บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO (แนะนำซื้อราคาเป้า 11.50 บาท): บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน หรือ PLUS มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ 44% ประเมินยอดขายสหรัฐที่ลดลง -8% (ปัจจุบันเสียอยู่ที่ 10%) จะกระทบกำไรปกติของบริษัทที่ -3.5% และ COCOCO มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ 24% ประเมิน ยอดขายสหรัฐที่ลดลง -8% จะกระทบกำไรปกติของบริษัทที่ -2% อย่างไรก็ตามเรามองความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดโลกยังสูง และ บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้มองผลกระทบที่จำกัด

ด้านบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER (แนะนำถือราคาเป้า 5.00 บาท): แม้ปัจจุบันไม่มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ โดยตรง แต่มองว่าบริษัทมีโอกาสได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ลูกค้า ของบริษัทมีการส่งออกล้อยางไปสหรัฐ เบื้องต้นเราประเมินสำหรับยอดขาย โดยรวมของ NER ที่ลดลงทุกๆ -5% จะกระทบกำไรปี 2569 (เต็มปี) ราว – 6%

บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE (แนะนำถือราคาเป้า 33.50 บาท) มองว่ากระทบจำกัด เนื่องจาก distributor ที่สหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบภาษี ทั้งนี้ SAPPE ส่งออกไปสหรัฐ ประมาณ 5%

บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP (แนะนำขายราคาเป้าหมาย 12.00 บาท),บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC (แนะนำขายราคาเป้าหมาย 140.00 บาท) มองว่าผลกระทบจำกัดเนื่องจากตลาดสหรัฐคิดเป็นประมาณ 4% ของรายได้รวม ของ SCGP และเพียง 1% ของรายได้รวมของ SCC เท่านั้น

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (แนะนำซื้อราคาเป้า 3.40 บาท) กระทบจำกัด โดยโรงงาน Aeroflex ที่สหรัฐ มีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย จะกระทบต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่บริษัทมีแผนที่จะ ปรับเพิ่มราคาขายขึ้นชดเชย ซึ่งปัจจุบันคู่แข่งมีการปรับเพิ่มราคาขายแล้ว

Back to top button