
“ดาโอ” มองกลุ่ม “แบงก์” รับอานิสงส์ ครม. ขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ชู KTB ท็อปพิก
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) มองกลุ่มธนาคารได้อานิสงส์รัฐขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ถึง ก.ย. หนุน NPL ทรงตัว ลดแรงกดดันสำรอง ชู KTB เป็นหุ้นเด่น พื้นฐานแกร่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลารับสมัครเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 พร้อมทั้งพิจารณากำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2568
นอกจากนี้ ยังได้มีการขยายขอบเขตคุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม และช่วยบรรเทาภาระหนี้ของประชาชนได้มากขึ้น โดยประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์, มาตรการจ่าย ปิด จบมาตรการใหม่ “จ่าย ตัด ต้น”
ทั้งนี้ สอดคล้องกับฝ่ายนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การขยายเวลาโครงการออกไปอีก 3 เดือน จะส่งผลเป็นกลางต่อภาพรวม เนื่องจากในเฟสแรกของโครงการ มียอดหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 460,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 1–2% ของสินเชื่อรวมในระบบ
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจช่วยลดการตั้งสำรองฯ และลดปริมาณหนี้เสีย (NPL) ได้ในระยะยาว หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขครบระยะเวลา 3 ปี แต่ในระยะสั้นธนาคารอาจได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ดอกเบี้ยทันที เนื่องจากไม่มีการรับรู้ดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อ (Loan Yield) และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลงจากการใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ต่ำลง
สำหรับมาตรการข้อ 1-2 ยังคงเป็นมาตรการเดิมจากเฟสแรกของโครงการ แต่มีการปรับปรุงเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อขยายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มใหม่มากขึ้น
มาตรการที่ 1: “จ่ายตรง คงทรัพย์” มีการขยายเงื่อนไขให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะค้างชำระระหว่าง 1-30 วัน หากลูกหนี้รายนั้นเคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว รวมถึงขยายช่วงหนี้ค้างชำระจากเดิม 31-365 วัน ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 365 วันด้วย โดยมีลูกหนี้ลงทะเบียนในมาตรการนี้รวมคิดเป็นยอดหนี้กว่า 460,000 ล้านบาท
มาตรการที่ 2: “จ่าย ปิด จบ” มีการปรับเพิ่มวงเงินคงค้างที่สามารถเข้าร่วมได้เป็นไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับหนี้ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และ 30,000 บาท สำหรับหนี้มีหลักประกัน (Secured Loan) จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5,000 บาททั้งสองประเภท โดยมีลูกหนี้ลงทะเบียนในมาตรการนี้รวมมูลหนี้ 216 ล้านบาท
มาตรการใหม่ ข้อ 3: “จ่าย ตัด ต้น” เป็นมาตรการที่เพิ่มขึ้นในรอบนี้ เพื่อรองรับลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะ โดยมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนในมาตรการนี้รวม 874 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการในข้อ 2 และข้อ 3 จะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเป็นกลุ่มหนี้ไม่มีหลักประกันที่ส่วนใหญ่มีอายุค้างชำระยาวนาน (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2564) และโดยทั่วไป ธนาคารมักมีนโยบายตัดบัญชีหนี้เสีย (write-off) กลุ่มนี้ภายใน 3-6 เดือนหลังจากเริ่มค้างชำระ
ขณะที่มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า แต่ก็ยังอยู่ในระดับจำกัด เนื่องจากลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะไม่สามารถขอก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมได้ในช่วง 12 เดือนแรก ของการเข้าร่วม ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับบางกลุ่มลูกหนี้
นักวิเคราะห์ยังคงแนะนำ “มากกว่าตลาด” (Overweight) สำหรับกลุ่มธนาคารไทย โดยมองว่า Valuation ของกลุ่มยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้าหลากหลายและมีเสถียรภาพด้านคุณภาพสินทรัพย์
ในเชิงโครงสร้าง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ยังคงเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนของสินเชื่อรายย่อยสูงที่สุดที่ระดับ 68% รองลงมาคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB (62%), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB (46%), บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (40%) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (28%) ตามลำดับ
กลุ่มธนาคารโดยรวมมีระดับการซื้อขาย (valuation) ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.65 เท่า PBV หรือราว -1.25 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของกลุ่มอยู่ในระดับสูงถึง 7% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดที่ประมาณ 3%
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงเลือก KTB เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม (Top Pick) โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 25 บาท อิงจากประมาณการปี 2568 ที่ระดับ PBV 0.75 เท่า หรือประมาณ -0.5 SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว
KTB มีจุดแข็งในด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยพอร์ตสินเชื่อหลักเน้นปล่อยให้กับภาครัฐ ส่งผลให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีเสถียรภาพดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม อีกทั้งราคาหุ้นในปัจจุบันยังไม่สะท้อนผลกำไรที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เกินระดับ 10,000 ล้านบาทต่อไตรมาส ต่อเนื่องถึง 5 ไตรมาสติดต่อกัน
ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ควบคู่กับ Valuation ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ทำให้ KTB ยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคาร สำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว