
“ฟินันเซีย ไซรัส” แนะซื้อ SCC ชี้ผลงาน Q2 นิวไฮ รับปันผล-บุ๊กกำไรพิเศษหนุน
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมิน SCC ผ่านจุดต่ำสุด มองกำไรไตรมาส 2/68 จะเป็นจุดสูงสุดของปี แนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง รับแรงหนุนรายได้เงินปันผลและกำไรพิเศษจากการเข้าซื้อโรงกลั่นของ CAP โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” ให้เป้าหมาย 200 บาท
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุบทวิเคราะห์เชิงบวกต่อบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC โดยประเมินว่าธุรกิจหลักของบริษัทฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และได้ผ่านจุดต่ำสุดของกำไรไปแล้วในไตรมาส 4/2567 ซึ่งในไตรมาส 1/2568 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.1 พันล้านบาท ขณะที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เติบโต 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นจาก 5% ในไตรมาสก่อนหน้า ได้แรงหนุนหลักจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ
ทั้งนี้ ธุรกิจปูนซีเมนต์ยังได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาขาย 20% ในไตรมาส 2/2568 ซึ่งช่วยชดเชยปริมาณขายที่ชะลอตัวตามฤดูกาล โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 2/2568 จะเป็นจุดสูงสุดของปี จากแรงสนับสนุนของรายได้เงินปันผล การดำเนินงานที่ดีขึ้น และกำไรพิเศษจากการเข้าซื้อโรงกลั่นของ PT Chandra Asri Pacific Tbk (CAP) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอินโดนีเซียที่ SCGC
สำหรับกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของรายได้รวม ยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะล้นตลาดและส่วนต่างราคาที่อ่อนตัว โดย LSP ในเวียดนามที่เพิ่มกำลังการผลิตของบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ถึง 40% จำเป็นต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากราคาขายต่ำกว่าจุดคุ้มทุน
อย่างไรก็ดีบริษัทมีแผนลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับวัตถุดิบเป็นเอเทนในสัดส่วน 2 ใน 3 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ราว 250 ดอลลาร์ต่อตัน คาดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2570 พร้อมทั้งเร่งเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (HVA) เพื่อรักษาอัตรากำไรในช่วงวัฏจักรขาลง
ด้านงบการเงิน SCC ยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้จะมีระดับหนี้สูง โดยตั้งงบลงทุนปี 2568 ไว้ที่ 30,000–35,000 ล้านบาท ลดลงจากเฉลี่ยกว่า 60,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562–2567 หนี้สินสุทธิอยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาทในไตรมาส 1/2568 และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E) จะทยอยลดลงมาอยู่ในระดับ 0.7–0.8 เท่าภายในปี 2570
นอกจากนี้ SCC ยังได้ขายหุ้น 10.6% ที่ถืออยู่ในบริษัท CAP ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกำไรทางบัญชี ลดการขาดทุนจากเงินลงทุน และปรับโครงสร้างทางการเงินให้ดีขึ้น
โดยทางฝ่ายวิจัยให้คำแนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 200 บาท อิงวิธี SOTP และใช้ EV/EBITDA ที่ 6–13 เท่า ซึ่งสะท้อนค่า P/BV ปี 2568 เพียง 0.7 เท่า โดยแม้จะมีปัจจัยลบระยะสั้น แต่การมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ HVA นวัตกรรมสีเขียว และการควบคุมต้นทุน ยังคงเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้ ความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์ HVA ทำให้ SCC ควรได้รับมูลค่าเหนือกว่าคู่แข่ง และสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรแม้อยู่ในวัฏจักรอุตสาหกรรมที่ผันผวน