น้ำมัน “WTI–เบรนท์” พุ่งกว่า 2% หลัง IEA ชี้สัญญาณตลาดตึงตัว-จับตาคว่ำบาตรรัสเซีย

ราคาน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2% หลัง IEA เตือนตลาดโลกตึงตัวกว่าคาด ขณะที่นักลงทุนจับตาท่าทีสหรัฐฯ ต่อภาษีและความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรรัสเซีย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (12 ก.ค. 68) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันศุกร์ (11 ก.ค.) หลังสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าตลาดน้ำมันโลกตึงตัวมากเกินคาด ขณะที่นักลงทุนจับตานโยบายภาษีของสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 1.88 ดอลลาร์ หรือ 2.82% ปิดที่ 68.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 1.72 ดอลลาร์ หรือ 2.51% ปิดที่ 70.36 ดอลลาร์/บาร์เรล

ขณะที่ ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมัน WTI เพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% และสัญญาน้ำมันเบรนท์เพิ่มขึ้น 3%

IEA ระบุว่า ตลาดน้ำมันโลกอาจตึงตัวมากกว่าคาด โดยอุปสงค์ได้รับแรงหนุนจากการเดินเครื่องกลั่นน้ำมันเต็มกำลังในช่วงฤดูร้อนเพื่อรองรับความต้องการเดินทางและการผลิตไฟฟ้า

ขณะที่ สัญญาน้ำมันเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. มีราคาซื้อขายสูงกว่าสัญญาส่งมอบเดือนต.ค. ประมาณ 1.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตลาดกำลังเผชิญภาวะตึงตัวในระยะสั้น

นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า ตลาดเริ่มตระหนักว่าอุปทานน้ำมันมีจำกัด ส่วนข้อมูลจาก บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ส (Baker Hughes) ระบุว่า ผู้ประกอบการพลังงานในสหรัฐฯ ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการลดต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2563 ที่อุปสงค์น้ำมันลดลงจากการระบาดของโรคโควิด-19

แม้ตลาดตึงตัวในระยะสั้น แต่ IEA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปทานน้ำมันในปีนี้ พร้อมกับลดคาดการณ์อุปสงค์ลงเล็กน้อย ซึ่งชี้ว่าตลาดอาจเข้าสู่ภาวะอุปทานล้นตลาดในภาพรวม

ขณะที่ นักวิเคราะห์จากธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ (Commerzbank) ระบุว่า กลุ่มโอเปกพลัสสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็วและมากเพียงพอ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด แต่ในระยะสั้น ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนอยู่

กลุ่มโอเปกพลัสประกอบด้วยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และพันธมิตร อาทิ รัสเซีย อีกปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาน้ำมันในระยะสั้น คือ คำกล่าวของ อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียที่ระบุว่า รัสเซียจะชดเชยปริมาณการผลิตที่เกินโควตาของโอเปกพลัสด้วยการปรับลดการผลิตในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ปีนี้

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบีย ยังมีแนวโน้มจะส่งออกน้ำมันดิบไปยังจีนประมาณ 51 ล้านบาร์เรลในเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นปริมาณมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี และบ่งชี้ว่าอุปสงค์ในระยะสั้นยังแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงปี 2569-2572 ลงในรายงานแนวโน้มน้ำมันโลกปี 2568 (World Oil Outlook) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี โดยให้เหตุผลว่าอุปสงค์จากจีนมีแนวโน้มชะลอตัว

กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียระบุเมื่อวันศุกร์ว่า ประเทศยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันภายใต้กรอบ โอเปกพลัสอย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี สัญญาน้ำมันทั้งสองชนิดร่วงลงมากกว่า 2% เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่านโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับ NBC News ว่า เขาจะออกแถลงการณ์สำคัญเกี่ยวกับรัสเซียในวันจันทร์ (14 ก.ค.) โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ทรัมป์แสดงความไม่พอใจกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการยุติสงครามในยูเครน และรัสเซียยังคงโจมตีเมืองต่าง ๆ ของยูเครนอย่างรุนแรง

คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนอแนวทางการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียแบบลอยตัวในสัปดาห์นี้ภายใต้ร่างมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ ขณะที่รัสเซียระบุว่า รัสเซียมีประสบการณ์ในการรับมือและลดผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

Back to top button