CGSI ชี้! จีนคุมเข้ม “anti-involution” กระทบปิโตรเคมีไทย

CGSI ลดน้ำหนักลงทุน “หุ้นปิโตรเคมี” กระทบจีนคุมเข้มนโยบาย "anti-involution" อาจลดโครงการใหม่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหลังปี 2571


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยว่า สื่อ South China Morning Post รายงานถึงการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของรัฐบาลจีนที่เริ่มให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภาวะ “เน่ยจวน” หรือ “involution” ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงเกินความจำเป็น จนอาจกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจและการเติบโตในระยะยาว โดยมีการประกาศมาตรการภายใต้แนวทาง “anti-involution” อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567

โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ได้แถลงแนวทางปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยควบคุมอุปทานในระดับเหมาะสม พร้อมลดกำลังการผลิตที่ล้าสมัยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ได้แก่ ปิโตรเคมี, ทองแดง, อะลูมิเนียม และเหล็ก เป็นต้น

CGSI ระบุว่า แม้มาตรการยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การปรับสมดุลของอุปทานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างรุนแรงหรือไม่ แต่คาดว่าจะส่งผลให้จำนวนโครงการใหม่ลดลงหลังปี 2571 เนื่องจากการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานของจีน (2567–2568) จะเร่งการปิดโรงงานเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการที่ผลิตเคมีภัณฑ์จากถ่านหิน ซึ่งอาจถูกจำกัดเพิ่มเติมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 15 (2569–2573) การอนุมัติโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์และเคมีภัณฑ์อื่น ๆ อาจมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะจีนเปลี่ยนแนวทางพัฒนาจากเศรษฐกิจพึ่งพาตนเองไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อุตสาหกรรมไฮเทค และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อย่างไรก็ตาม โครงการโอเลฟินส์ที่ได้รับอนุมัติก่อนปี 2568 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและทันสมัย ยังมีแนวโน้มเดินหน้าได้ตามกำหนด

ขณะเดียวกัน โรงงานผลิตโอเลฟินส์จากเมทานอล, PVC จากคาร์ไบด์ และ PDH ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ มีแนวโน้มผลิตลดลงตามนโยบายควบคุมอุปทาน แต่ CGSI เห็นว่าการลดกำลังการผลิตของสินทรัพย์ขาดทุนเหล่านี้อาจไม่ช่วยให้ส่วนต่างราคาเคมีภัณฑ์ (spread) ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ผลกระทบของนโยบาย “anti-involution” ต่อ spread ของเคมีภัณฑ์ในปี 2568–2569 ยังจำกัด แต่ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า ราคาหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีของไทยอาจ outperform ต่อเนื่องในระยะสั้น จากความคาดหวังเรื่องการปรับสมดุลอุปทาน เช่นเดียวกับหุ้นผู้ผลิตในจีนและเกาหลีใต้ที่ปรับตัวขึ้น 7–10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำ “ลดน้ำหนักลงทุน” (Underweight) กลุ่มนี้ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลในระดับโครงสร้างเพียงใด อีกทั้ง EBITDA ของผู้ผลิตไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวในปี 2568–2569 โดยมีความเสี่ยงด้านลบจากความต้องการพลาสติกที่ต่ำกว่าคาด ส่วนความเสี่ยงด้านบวก (upside risk) อาจเกิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

Back to top button