
“ส.อ.ท.” ดันอุตสาหกรรมการบิน-อวกาศ ลุย “Aerospace Valley” ปั้นไทยสู่ Aviation Hub โลก
“ส.อ.ท.” ตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ลำดับที่ 47 เดินหน้าพัฒนา Aeropolis – AAM – SAF ผนึกนวัตกรรม-เทคโนโลยี ปั้นไทยเป็นศูนย์กลาง Aviation & Aerospace ระดับโลกใน 5 ปี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้จัดตั้ง “กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ” เป็นกลุ่มลำดับที่ 47 อย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินและอวกาศกลายเป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูง โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีด้านการบิน อาทิ รูปแบบอากาศยาน เทคโนโลยีการเดินอากาศ การควบคุมนำทาง การพัฒนา Advanced Air Mobility (AAM) และการจัดการ Airspace Integration เพื่อยกระดับการใช้งานห้วงอากาศให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และทันสมัย
ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการด้านการบินอัจฉริยะและ Aeropolis อย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระบบการเดินทางทางอากาศ บก ราง และน้ำอย่างไร้รอยต่อ พร้อมผลักดันการเกิดระบบนิเวศของผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน การสื่อสาร โทรคมนาคม ดาวเทียม ระบบดิจิทัล AI Big Data และ Open Source Software เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและมีต้นทุนที่คุ้มค่า
ขณะเดียวกันยังเร่งสร้างการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการผ่านกลไก Cluster อุตสาหกรรม พัฒนา Use Cases จากกรณีศึกษาต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Disruption) ควบคู่ไปกับการพัฒนา Talent ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ รองรับรูปแบบธุรกิจใหม่และ Startup ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศถือเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่ามูลค่าตลาดทั่วโลกจะสูงถึง 1.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2571 และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทย จะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุด โดยจะกลายเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2583 ส่งผลให้ความต้องการด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และบุคลากรด้านการบินขยายตัวตามไปด้วย
เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ส.อ.ท.ได้จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้สอดคล้องกับนโยบาย “4 GO” ได้แก่
GO Digital & AI: นำระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกระบวนการออกแบบ การควบคุมการจราจรทางอากาศ และการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์
GO Innovation: สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบินขั้นสูง
GO Global: ขยายเครือข่ายความร่วมมือสู่ระดับสากล
GO Green: ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 80%
นายเกรียงไกร ระบุว่า ความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงโครงการ “Aerospace Valley” จะเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลาง Aviation & Aerospace Hub ระดับภูมิภาคและเวทีโลก โดยเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve และ New S-Curve) ที่เน้นมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน