
AOT รุกปรับใหญ่ค่า PSC ดีเดย์ต.ค. ขึ้นอีก 100 บาท ลั่นเร่งปั๊มกำไร Q4 โตแกร่ง
“ท่าอากาศยานไทย” เตรียมปรับใหญ่ขึ้นค่า PSC เกิน 100 บาทต่อคนภายในเดือน ต.ค.หรือไม่เกิน พ.ย.นี้ ดันรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท หลังทุกฝ่ายไฟเขียวหมดแล้ว “ปวีณา” ประกาศดันกำไรงบไตรมาส 4 (ก.ค.-ก.ย. 68) สูงสุดรอบปีนี้ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดการปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) ล่าสุดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) ใน 6 ท่าอากาศยาน ที่อยู่ภายใต้การดูแล โดยเปรียบเทียบอัตราค่าบริการกับท่าอากาศยานชั้นนำทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง คาดแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หรือ ภายในเดือน ก.ย.นี้
“AOT น่าจะสรุปการศึกษาใน 2 เดือนนี้ หลักการต้องดูประเทศอื่นว่า เก็บในอัตราเท่าไร แล้วของเราควรเท่าไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งเก็บจากผู้โดยสารขาออก ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารต่างชาติ มองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ รายได้จาก PSC นั้น จะทำให้ ทอท.สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงบริการ และนำไปลงทุนพัฒนาขยายสนามบิน เช่น โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ได้อีกด้วย”
ทั้งนี้หากพบว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียม PSC ของไทยต่ำกว่าท่าอากาศยานหลายแห่งในโลกนั้น อาจจำเป็นต้องปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้นำไปใช้พัฒนาบริการในท่าอากาศยาน ส่วนจะปรับขึ้นอัตรา 100 บาทหรือไม่นั้น คงต้องรอผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อน และยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสนามบิน โดย เฉพาะอย่างยิ่งผู้โดยสารขาออกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็มีการจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่า
ปรับค่า PSC รอบใหญ่
น.ส.ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ยอมรับเหตุผลในการปรับขึ้นค่า PSC ทั้งหมดแล้ว ซึ่ง AOT จะปรับขึ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้เป็นรอบแรก
โดยบริษัทได้เสนอไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อขอปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) อีก 5 บาท จากปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศจัดเก็บที่ 730 บาทต่อคน เป็น 735 บาทต่อคน และผู้โดยสารในประเทศจัดเก็บที่ 130 บาทต่อคน เป็น 135 บาทต่อคน ซึ่ง AOT ได้เข้าชี้แจงต่อ CAAT จนได้ข้อยุติแล้ว และ CAAT เห็นด้วยกับอัตราดังกล่าว ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้บริษัทประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี
ส่วนในเดือน ต.ค.หรือ พ.ย.นี้ จะปรับเพิ่มค่า PSC ครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมากกว่า 100 บาทต่อคน จากผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารในประเทศ เพราะถ้าคำนวณจากหลักการการเก็บค่า PSC ซึ่งเป็นหลักการกลางของโลก PSC ของ AOT ก็ยังอยู่ต่ำกว่าค่าตามการคำนวณตามมาตรฐานอยู่มากขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การปรับขึ้นค่า PSC อาจมีความกังวลว่าถูกมองเชิงลบ แต่ AOT ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากสามารถทำให้สถานที่ และบริการดีขึ้น ก็เห็นด้วยที่จะปรับขึ้น
โดยหากปรับขึ้นค่า PSC จากโดยผู้โดยสารระหว่างประเทศ 100 บาทต่อคน จะทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาทต่อปี และปรับขึ้นค่า PSC จากผู้โดยสารในประเทศ 100 บาทต่อคน จะทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งหมดรายได้จะเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาทต่อปี
น.ส.ปวีณา กล่าวว่า อัตราค่า PSC ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้ AOT มีผลขาดทุนจากต้นทุนการดำเนินงาน ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ในอัตรา 200 บาทต่อคน และผู้โดยสารในประเทศ ในอัตรา 50 บาทต่อคน เฉลี่ยขาดทุน 125 บาทต่อคน
ประเทศไทยถูกที่สุด
สำหรับตัวเลขการจัดเก็บค่า PSC ในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ เก็บในอัตรา 3,000 บาทต่อคน ขณะที่ท่าอากาศยานนานาชาติชางงี สิงคโปร์ จัดเก็บในอัตรา 1,500 บาทต่อคน, ฮ่องกง จัดเก็บค่า PSC ที่ 800 บาทต่อคน และการเปลี่ยนเครื่องบินระหว่างการเดินทางค่า (transfer) อีก 600 บาท เป็น 1,400 บาทต่อคน และญี่ปุ่น จัดเก็บค่า PSC ที่ 820 บาทต่อคน และค่าทรานส์เฟอร์ อีก 400 บาท เป็น 1,220 บาทต่อคน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับไทยถือว่าสูงกว่ามาก เนื่องจาก AOT ไม่มีการจัดเก็บค่าทรานส์เฟอร์
โดยกระบวนการพิจารณาปรับค่า PSC ตามขั้นตอนต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 4 เดือน หรือบังคับใช้ได้ช่วงต้นปี 2569
ทั้งนี้ AOT มีรายได้จากค่า PSC ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยนำส่วนต่างของรายได้ไปพัฒนาสนามบิน เป็นหลักการของสนามบินทั่วโลก ส่วนการจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค (Aviation Hub) สนามบินเองต้องมีการวางแผนและปรับตัวให้สอดรับกับนโบายรัฐบาล มีนโยบายในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเป็นระบบ
ปั๊มกำไร Q4 ฟื้นเชื่อมั่น
น.ส.ปวีณา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มช่วงไตรมาส 4/2568 (ก.ค.-ก.ย. 2568) มั่นใจว่าจะดีขึ้น จะมาจากการปรับลดต้นทุนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของพนักงาน ซึ่งจะประหยัดได้หลายร้อยล้านบาท ขณะที่ AOT จะมีการจัดเก็บค่าบริการระบบไฟฟ้า 400 เมกะเฮิร์ต และระบบปรับอากาศ พีซี-แอร์ ในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรือ SAT-1 ที่ปัจจุบันไม่ได้จัดเก็บจากสายการบินต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เข้ามาปีละ 400 ล้านบาท
ขณะที่สล็อตการบิน (ช่วงเวลาที่กำหนด ที่สนามบินอนุญาตให้เครื่องบินขึ้นหรือลงจอดได้) เดือน ก.ค. 2568 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2567 จากเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมา เป็นผลจากรัฐบาลได้แก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และจากที่ AOT พยายามอย่างเต็มที่ทั้งการหารายได้เพิ่มและลดค่าใช้จ่าย คาดว่ารายได้ปี 2568 (ต.ค. 2567-ก.ย. 2568) จะเพิ่มจากปี 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) และผลดำเนินงานจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี
“เราจะพยายามเร่งสร้างกำไรและเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ” น.ส.ปวีณา กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการ จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) นั้น AOT ได้จัดจ้างสถาบันการศึกษา 2 ราย มาเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาทั้งประเด็นด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน และการบริหารธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดของสัญญาเดิม รวมถึงเสนอแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปตามระยะเวลาที่กำหนด 60 วัน จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป