สนไหม? SUPER อัพไซด์เกิน40% หลังรูดมาทั้งเดือน โบรกฯแนะสอย 3 โครงการใหญ่หนุน-กำไร Q3 ทะยาน

SUPER ดันบริษัทย่อยซื้อหุ้นโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร 12 โครงการ พร้อมรุกขยายโรงไฟฟ้าทั้งใน-ตปท. เล็งงบฯไตรมาส 3/59 โตต่อเนื่อง ตั้งเป้าปีนี้ COD เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ โบรกฯ แนะ “ทยอยซื้อ”


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” สำรวจราคาหุ้น บริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) หรือ  SUPER โดยพบว่าตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.92 บาท เมื่อวันที่ 1 ส.ค.59 จนถึงล่าสุดปิดตลาดวานนี้(6 ต.ค.) อยู่ที่ 1.48 บาท ปรับตัวขึ้น 0.07 บาท หรือ 4.96% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 623.58 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นมีอัพไซด์สูงถึง 42.18% จากราคาเป้าหมาย 2.09 บาท

เนื่องจากยังมีปัจจัยหนุนจากโครงการปัจจุบันและกำลังพัฒนารวมทั้งหมด 6 โครงการ ดังนี้ i)โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในมือ(450MW) 1.27 บาท ii)โครงการเพิ่มเติมในต่างประเทศ (250 MW) 0.5 บาท iii)โรงไฟฟ้าพลังงานขยะในมือ (10MW) 0.06 บาท รวมกับโควตาใหม่ที่คาดจะได้ในรอบนี้ iv) โควตาขยะอุตฯ (10MW)  0.06 บาท v)โควตาขยะชุมชน(20MW) 0.12 บาทต่อหุ้น vi)โควตาโซลาร์หน่วยราชการ (50MW) 0.08 บาท

อีกทั้งแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/59 มีการคาดการณ์ว่าจะออกมาโดดเด่น เติบโตจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ขณะเดัียวกันบริษัทตั้งเป้าปีนี้ COD เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ และเป้าปีหน้า 2,000 เมกะวัตต์จากประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น SUPER มีโอกาสปรับตัวขึ้นแรงรอบใหม่ หลังร่วงมานาน 

ด้านนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานกรรมการ SUPER เปิดเผยว่า บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) บริษัทย่อยจะเข้าซื้อหุ้นโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร 12 โครงการกำลังการผลิตติดตั้งรวม 48.20 เมกะวัตต์ สัดส่วนการลงทุน 49% ของทุนจดทะเบียนจำนวน 5 รายการ รวมเป็นเงินลงทุน 1,256.24 ล้านบาท

พร้อมยืนยันเป้าหมายในปีนี้ โรงไฟฟ้าทั้งหมดในกลุ่มจะมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) เพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ เพราะที่ผ่านมาได้ลุยงานอย่างเต็มที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือแม้แต่การเข้าไปประมูลจากหน่วยงานราชการ และการร่วมมือกับพันธมิตร ดังนั้นก็จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปจนถึงปี 60 ที่ตั้งเป้าหมาย COD ที่ 2,000 เมกะวัตต์

ส่วนแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทยังคงเน้นขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการยังสูง มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้รายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งเดินหน้าศึกษาเพื่อเข้าลงทุนในโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลม ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม  CLMV อย่างต่อเนื่อง ทั้ง กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม เป็นต้น

ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/59 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2/59 เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาก 

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์แนะนำ “ทยอยซื้อ” SUPER ให้ราคาเป้าหมาย 2.09 บาท หลังจากมองว่าผู้บริหารได้แถลงความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าขยะ ขณะนี้ได้เตรียมการก่อสร้างโครงการแรก ขนาด 10MW ในปราจีนบุรี-สระแก้ว คาดเริ่มงานได้ในไตรมาส 3/59 โดยเป็นสัญญาซื้อขายไฟในรูปแบบ Adder เดิมที่นำกลับมาพัฒนาต่อ ซึ่งปัจจุบันได้ทำประชาพิจารณ์ผ่านแล้ว พร้อมทำสัญญากับบ่อขยะอุตสาหกรรมเพื่อป้อนวัตถุดิบในระยะยาว คาดเริ่ม COD ในอีก 14 เดือนข้างหน้า หรือราวไตรมาส4/60

นอกจากนี้บริษัทได้มีการปรับแผนการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในต่างประเทศจากเดิมในญี่ปุ่น 300 MW ที่ได้มีการเซ็น MOU ไว้ก่อนหน้า แต่ในปีนี้อาจมีการบรรลุข้อตกลงรอบแรก 100 MW ส่วนที่เหลือของปีนี้ 200 MW อาจจะเป็นการลงทุนในจีนแทน (คาดสัดส่วนลงทุนร้อยละ 100)  คาดชัดเจนในไตรมาส 3/59 ประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน (EIRR) ราว 14% สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในประเทศที่จะมีโควตาปล่อยมาอีกกว่า 1,000 MW จากเรกูเลเตอร์ บริษัทให้ความสนใจในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์-ขยะ เป็นหลัก ได้แก่ ขยะอุตสาหกรรม 50 MW-ขยะชุมชน 130 MW-โซลาร์ฯหน่วยราชการ 519 MW หากสามารถคว้าโควตาได้ราว 10% เป็นไปได้สูงที่ภายในปีนี้กำลังการผลิตรวมจะสามารถบรรลุเป้ากำลังผลิตรวม 1,000 MW ที่ตั้งไว้ปลายปี (สุทธิส่วนของบริษัทเท่ากับ 790 MW)

รวมทั้งบริษัทจะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น หลังโซลาร์ฟาร์มในมือสามารถ COD ได้เต็มที่ในครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป คาดมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเกิดขึ้นราวปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุนควบคู่ไปกับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของมูลค่าโครงการ มอง D/E ณ สิ้นปี 59 อาจอยู่ที่ระดับ 2-2.5 เท่า ทั้งนี้หากจำเป็นยังมีใบสำคัญแสดงสิทธิ SUPER-W3 หากมีการใช้สิทธิจะทำให้มีเงินสำรองเกิดขึ้นอีกราว 8,000 ล้านบาท(ราคาใช้สิทธิ 4 บาท) จะทำให้ D/E ลดเหลือราว 1.5 เท่า และมีช่องว่างสำหรับการลงทุนต่อ สอดคล้องกับมุมมองผู้บริหารที่จะยังไม่มีแผนเพิ่มทุนในระยะสั้นนี้

ดังนั้นจึงปรับคำแนะนำขึ้นเป็น “ทยอยซื้อ” พร้อมปรับใช้ราคาพื้นฐานสำหรับปี 60 ที่ 2.09 บาท อิงวิธี SOTP จากโครงการปัจจุบันและกำลังพัฒนา ได้แก่ i)โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในมือ(450MW) 1.27 บาท ii)โครงการเพิ่มเติมในต่างประเทศ (250 MW) 0.5 บาท iii)โรงไฟฟ้าพลังงานขยะในมือ (10MW) 0.06 บาท รวมกับโควตาใหม่ที่คาดจะได้ในรอบนี้ iv) โควตาขยะอุตฯ (10MW)  0.06 บาท v)โควตาขยะชุมชน(20MW) 0.12 บาทต่อหุ้น vi)โควตาโซลาร์หน่วยราชการ (50MW) 0.08 บาท

ด้านราคาหุ้น  ปิดตลาดวานนี้ (6 ต.ค.) อยู่ที่ 1.48 บาท ปรับตัวขึ้น 0.07 บาท หรือ 4.96% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 623.58 ล้านบาท

X
Back to top button