สปอยล์งบฯแบงก์ Q1/60 แบบจัดเต็ม! จ่อรับกำไรอื้อซ่า

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษ …


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาสที่ 1/60 ในช่วงตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.60 เป็นต้นไป

โดยพบว่าผลการดำเนินงานของ บจ.กลุ่มธนาคารในไตรมาสดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่เห็นแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่ทยอยเปิดประมูลมากขึ้นขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้มีโอกาสปรับตัวลดลงได้ต่อเนื่อง สำหรับธนาคารที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานเติบโตโดดเด่นได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรเติบโตเมื่อเทียบกับกว่า 20% และธนาคารที่ยอดปล่อยสินเชื่อเติบโตดีที่สุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 1 ปีนี้มีทิศทางเพิ่มขึ้น 8-10% จากปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาส 4/2559 โดยธนาคารที่น่าจะมีกำไรดี  ได้แก่   แบงก์กรุงเทพ, แบงก์กรุงไทย และแบงก์ทิสโก้

ขณะที่สินเชื่อแบงก์เดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อน ดีขึ้นจากเดือนม.ค.ที่หดตัว 0.7% จากเดือนธ.ค. 2559 ทำให้ยอดสินเชื่อ 2 เดือนในปีนี้ 0.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยแบงก์ที่สินเชื่อโตดีสุดในเดือนนี้คือธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ส่วนกลุ่มแบงก์ใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสินเชื่อโตดีสุดรองมาเป็น แบงก์กสิกรไทย

 

นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ โดยแนะนำเก็งกำไรหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากจะเริ่มมีการประกาศงบไตรมาส 1/60 คาด SCB และ KKP เติบโตมากสุดของแบงก์ขนาดใหญ่และขนาดกลางตามลำดับ ขณะที่คาดผลกำไรของธนาคารที่ Cover ทั้งหมด 8 ตัวจะมีกำไรสุทธิรวมประมาณ 47,932 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน และ 15% จากปีก่อนเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ NIM และมีการตั้งสำรองหนี้เสียลดลง โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่คาดว่า SCB จะเป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุดประมาณ 23% จากปีก่อน ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลางคาด KKP มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุดประมาณ 22% จากปีก่อน

 

นอกจากนี้ นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์  โนมูระ พัฒนสิน เผยว่างบไตรมาสปี 2560 ของธนาคารพาณิชย์ที่จะเริ่มทยอยประกาศในสัปดาห์หน้า จากที่บริษัทได้ประมาณการไว้ 8 แห่ง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตกว่า 9.6% โดยแบงก์ขนาดใหญ่ที่แนะนำได้แก่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ  SCB ,ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ขณะที่แบงก์ขนาดกลางและเล็ก แนะนำลงทุนบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เนื่องจากการตั้งสำรองที่ลดลง และการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

โดยแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีกำไรสุทธิมากที่สุดได้แก่ SCB ซึ่งคาดว่าจะมีกำไร 1.27 หมื่นล้านบาท  เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 21% และเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 0.3%  ขณะที่ BBL มีกำไรสุทธิ 8.8 พันล้านบาท  เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 6.9% และเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 7.5%

สำหรับธนาคารกรุงไทย หรือ KTB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 8 พันล้านบาท  เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 6.4% และเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 7.8% ในขณะที่แบงก์กสิกรไทย หรือ KBANK คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 9.6 พันล้านบาท  ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 0.4% และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 6.2%

ด้านธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก คาดว่าบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO จะมีกำไรสุทธิ 1.48 พันล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 18.4% และเติบโตเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 15% TMB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 2.29 พันล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 9.8% และเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59

ขณะที่ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.29 พันล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 16% และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 11% ขณะที่บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.6 พันล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 กว่า 18.5% และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/59 กว่า 5.5%

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำหรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button