IFEC ลุ้น 15 ก.พ. ศาลไฟเขียวฟื้นฟูฯ “ทวิช” เดินหน้าพลิกธุรกิจ ปักหมุดรีซูมเทรดปี 66

IFEC ลุ้น 15 ก.พ. ศาลไฟเขียวฟื้นฟูฯ เปิดแผนเพิ่มทุน 500 ลบ.พลิกธุรกิจ คาดรีซูมเทรดปี 66


นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในวันนัดฟังคำพิพากษา 15 ก.พ.นี้ เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ โดยหวังว่าหุ้น IFEC จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ตามเดิมภายในปี 66

ทั้งนี้ เจ้าหนี้ IFEC ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,311 ราย ยอดหนี้เงินต้น 7,618 ล้านบาท หลังจากบริษัทได้จัดประชุมเจ้าหนี้รวม 2 ครั้ง เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการฉบับร่างให้พิจารณา ปรากฎว่าได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้รวม 390 ราย มูลหนี้ราว 2,175 ล้านบาท ซึ่งหากในวันที่ 15 ก.พ.นี้บริษัทได้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการก็คาดว่าจะเริ่มชำระหนี้งวดแรกได้ในวันที่ 1 ก.ค.65 แต่หากไม่สามารถเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ก็อาจจะสูญเสียดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วน

สำหรับการฟื้นฟูกิจการ IFEC จะเร่งดำเนินตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 3 ข้อ คือ 1.ปรับปรุงฐานะทางการเงินให้ส่วนทุนกลับมาเป็นบวก 2.บริษัทต้องมีผลประกอบการตามปกติ และมีกำไรต่อเนื่อง 3 ไตรมาส 3.สรุปงบประมาณรายไตรมาสและรายปีแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทคาดหวังจะกลับเข้ามาซื้อขายตามปกติได้ในปี 66

“ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับวันที่ 15 ก.พ. นี้แล้วว่าจะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ซึ่งหากได้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการตามแผนเราก็จะสามารถเพิ่มทุนเข้ามาก่อนที่จะนำเงินที่ได้ไปขยายการลงทุนหารายได้เพิ่ม ซึ่งตอนนี้เราก็มีแผนที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อที่จะร่วมลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้บริษัทพลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง” นายทวิช กล่าว

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงานงบการเงินของปี 60-62 เพื่อที่จะสามารถจัดส่งได้ก่อนจะครบกำหนดในวันที่ 31 มี.ค. นี้ และบริษัทจะมีเร่งจัดทำรายงานงบการเงินงวดปี 63 เพื่อที่จะจัดส่งต่อไป

สำหรับแผนงานเบื้องต้น บริษัทจะทำการเพิ่มทุนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทั้งในรูปแบบการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้กับผู้ถือห้นเดิม (RO) หรือ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจง (PP) เพื่อจะนำเงินที่ได้มารองรับการขยายการลงทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ธุรกิจจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมและไอน้ำ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเก็บกักพลังงาน

ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จะมีรายได้เข้ามาราว 500 ล้านบาทในปี 64 โดยหลังจากที่หักรายจ่ายต่างๆ แล้วจะเหลือเงินทุนราว 100 ล้านบาทที่สามารถนำไปขยายการลงทุนเพื่อให้ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทวางเป้าหมายที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นแตะ 800 ล้านบาทในปี 66 จากการรับรู้รายได้จากธุรกิจเดิม คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และธุรกิจกำจัดขยะ

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น บริษัทเตรียมจะเปลี่ยนแผงเป็นเทคโนโลยีใหม่ (Repowering) ที่จะช่วยให้อายุของแผงนานขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยปรับจากการลงทุนเองที่คาดว่าจะต้องใช้เงินสูงถึง 500 ล้านบาท มาเป็นการเช่าคืนแผงโซลาร์เซลล์ที่อัตรา 2-2.50 บาท/หน่วย และขายไฟฟ้าในอัตรา 3.5 บาท/หน่วย

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะนั้น วันนี้บริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะในจังหวัดชลบุรี ที่ปัจจุบันบริษัทได้เข้ารับงานจัดการบ่อขยะขนาด 108 ไร่ คาดว่าจะเห็นการลงทุนภายใน 3 ปีจากนี้ โดยบ่อขยะดังกล่าวปริมาณขยะที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลายแสนตัน และยังมีขยะที่จะเข้ามาต่อเนื่องกว่า 100,000 ตัน/ปี ในขณะเดียวกันบริษัทจะขอใบอนุญาตกำจัดขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจาเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 8.8 เมกะวัตต์ โดยจะใช้วิธีการแบ่งจ่าย เพื่อนำเงินที่เหลือไปลงทุนโครงการอื่นๆ และวันนี้บริษัทได้ลงนามใน MOU กับ บริษัท เอ็นเนอร์ เรย์ ยูเอซี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อออกแบบและติดตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในรูปแบบของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของนายทวิช มีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ คาดว่าปีนี้จะสามารถติดตั้งและรับรู้รายได้ในเฟสแรกก่อน 1 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนราว 23-25 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์

พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงเน้นการเข้าลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ในรูปแบบของ Private PPA โดยปัจจุบันได้เข้าเจรจากับโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง คาดหวังจะได้รับสัญญาการพัฒนาโซลาร์รูฟเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10-15 เมกะวัตต์ จากที่ตลาดรวมมีความต้องการออกมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 150-250 เมกะวัตต์

สำหรับกรณีที่กรมบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์สำคัญของ IFEC นั้น เชื่อว่าศาลจะสั่งให้ระงับการขายทอดตลาดในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ตามการร้องขอของเจ้าหนี้ IFEC เนื่องจากมองว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 2,116 ล้านบาทต่ำกว่าที่ควร เนื่องจากราคาประเมินอยู่ที่ 3,700-3,800 ล้านบาท และหากอยู่ในช่วงระยะเวลาปกติที่ไม่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะขายได้ราคาที่สูงขึ้นกว่าที่จะขายในช่วงนี้

Back to top button