“กรมอุทยานฯ” ลงนาม MoU “ซีพี-เมจิ” เพิ่มพื้นที่สีเขียว “อุทยานสามหลั่น” จ.สระบุรี 

“กรมอุทยานฯ” ลงนาม MoU “ซีพี-เมจิ” เพิ่มพื้นที่สีเขียว “อุทยานสามหลั่น” จ.สระบุรี 


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum  of Understanding) กับ บริษัท ซีพี – เมจิ จำกัด  ในโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสามหลั่น จังหวัดสระบุรี ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และสอดรับเป้าหมายเครือซีพีสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2564) มีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ  ความร่วมมือฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2564 นี้ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด จะร่วมฟื้นฟูผืนป่าที่เสื่อมโทรมในพื้นที่บ้านบุใหญ่  หมู่ 10 ตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำนวน 50 ไร่  สร้างฝายผสมผสาน 10 แห่ง จัดทำแนวกันไฟและสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า สร้างเครือข่ายชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนกองทุนสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าของกรมฯ และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำนครนายก และลำน้ำที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่มีลำน้ำไหลผ่านในช่วงฤดูแล้ง

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ในการดูแลรักษาผืนป่าของประเทศร่วมกัน เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ขอขอบคุณ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมสู่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์  สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการปฏิบัติงาน รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่   เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากร ที่ปฏิบัติงานป้องกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าด้วยความทุ่มเทและเสียสละ

ด้านนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี – เมจิ จำกัด  กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักดีถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชากรโลก ทั้งปัญหาภัยแล้ง ปัญหาโลกร้อน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญในการคืนสมดุลสู่ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ถือเป็นต้นทุนสำคัญในทุกมิติ ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นมีส่วนร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเป็นแนวทางที่ทุกบริษัทในเครือซีพียึดปฏิบัติ

“บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และมีปณิธานในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ตามเป้าหมาย SDGs” นางสาวสลิลรัตน์ กล่าว

สำหรับ ซีพี-เมจิ ดำเนินธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่  สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable  Development Goals : SDGs) และเดินตามเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Zero Carbon) ในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030

Back to top button